ปัญญานี้คืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร? มีประโยชน์อะไร?                                          กลับหน้าแรก 
 
 
 
 เนื้อความ : 
    จุดมุ่งหมาย ของการปฏิบัติธรรม สติปฐาน 4 คือปัญญา กับ (ไกลจากกิเลส หรือลอยบาป หรือ สูญญตา  
หรือไม่ยึดมั่รถือมั่นในสิ่งทั้งปวง หรือดับสิ้นกิเลส สรุปคือ นิพพาน) ผมขอถามว่า 
            1. ปัญญานี้คืออะไร?  เกิดขึ้นได้อย่างไร?  มีประโยชน์อะไร? 
            2. ปัญญากับนิพพาน เหมือนกันหรือต่างกัน ถ้าเหมือนกันเหมือนอย่างไร? ถ้าต่างกันต่างกันอย่างไร? 
            3. ทำไม่ต้องมีมหาสตินิพพานจึงบังเกิด? 
    หมายเหตุ  ผมเคยมีความคิดขัดแย้งกับพระเถรองค์หนึ่งคือ  ท่านพุทธทาส  เมื่อผมได้ฟังประโยคสั้นๆ  
ที่ท่านกล่าวทำนองว่า  นิพพานนั้นทุกคนมีอยู่แล้ว คือความว่างของจิต แต่มันเกิดสั้นๆ  
เมื่อผมคิดถึงตรงนี้ก็่มีความเห็นไม่ตรงรอยกับท่าน พุทธทาส  แต่ภายหลังเมื่อผมได้อ่านราย ละเอียดก็ต้องนับถือท่าน  
เพราะท่านกล่าวทำนองว่า เป็นนิพพานชั่วคราว เมื่อทำใจให้ว่างให้ยาวนานขึ้น นิพพานชั่วคราวเกิดนานขึ้น  
ความทุกข์ก็จะน้อย เมื่อทำมากๆ เข้า นิพพานจริงก็จะบังเกิด
 จากคุณ : Vicha [ 6 ก.ย. 2543 / 22:14:26 น. ]  
     [ IP Address : 203.151.36.3 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 1 : (tchurit) 
คุณVicha คงเข้าใจอยู่แล้ว แต่คงมีเจตนาตั้งกระทู้นี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดมากกว่ามั่งครับ 
1.1ปัญญาคือสภาพของจิตที่เข้าใจสัจธรรม ความเป็นไตรลักษณ์  มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของเหตุและปัจจัย(ปฏิจจสมุปบาท) สามารถแก้ไขทุกข์ได้โดยใช้หลัก อริยสัจ ๔ 
1.2 เกิดจากการศึกษา(ปริยัติ) และปฏิบัติ ทั้งการภาวนาและฝึกฝนในชีวิตจริง 
1.3มีประโยชน์ช่วยให้เข้าใจความทุกข์ และสามารถออกจากความทุกข์ได้ 
2.1ปัญญาต่างจากนิพพาน 
     ปัญญาเป็นสภาพของจิตดังกล่าวข้างต้นแล้ว 
     นิพพาน เป็นสภาพของจิตที่เป็นผลของการมีปัญญาจนจิตที่สามารถออกจากทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง 
3.ไม่มีสติแล้วจะรู้จักจิตตัวเองได้อย่างไรละครับ
 จากคุณ : tchurit [ 7 ก.ย. 2543 / 08:06:22 น. ]  
     [ IP Address : 203.157.42.217 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 2 : (อนัตตา) 
1.1  ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนประตัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละปัญญาเหมือนศัสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ 

1.2       ปัญญา ๓ 
            ๑. จินตามยปัญญา         [ปัญญาสำเร็จด้วยการคิด] 
            ๒. สุตามยปัญญา           [ปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง] 
            ๓. ภาวนามยปัญญา       [ปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม] 

จินตามยปัญญา เป็นไฉน 
      ในการงานทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี ในศิลปะทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี ในวิชาทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี บุคคลมิได้ฟังจากผู้อื่น ย่อมได้กัมมัสสกตาญาณ หรือย่อมได้สัจจานุโลมิกญาณ ว่ารูปไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าเวทนาไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าสัญญาไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าวิญญาณไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ย่อมได้อนุโลมิกญาณขันติญาณ ทิฏฐิญาณ รุจิญาณ มุติญาณ เปกขญาณ ธัมมนิชฌานขันติญาณอันใด ซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น นี้เรียกว่า จินตามยปัญญา 

สุตมยปัญญา เป็นไฉน 
      ในการงานทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี ในศิลปะทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี ในวิชาทั้งหลายที่ต้องน้อมนำไปด้วยปัญญาก็ดี บุคคลได้ฟังจากผู้อื่นแล้ว จึงได้กัมมัสสกตาญาณ หรือได้สัจจานุโลมิกญาณ ว่ารูปไม่เที่ยงดังนี้บ้าง ว่าเวทนาไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าสัญญาไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ว่าวิญญาณไม่เที่ยง ดังนี้บ้าง ได้อนุโลมิกญาณ ขันติญาณทิฏฐิญาณ รุจิญาณ มุติญาณ เปกขญาณ ธัมมนิชฌานขันติญาณ อันใด ซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น นี้เรียกว่า สุตมยปัญญา 

ปัญญาของผู้เข้าสมาบัติแม้ทั้งหมด เรียกว่า ภาวนามยปัญญา 

1.3 ทางโลกก็ทำให้ฉลาด ทางทำก็ทำให้พ้นทุกข์ 

2. ปัญญา ต่างจากนิพพาน ตรงที่ ปัญญาเป็นสิ่งที่เราเพียรสร้างขึ้นด้วย ปัญญา ๓ ข้างต้น แต่ นิพพานเป็นสภาวะที่เข้าถึงเมื่อมีปัญญาสมบูรณ์แล้ว เปรียบเหมือนเราอยู่ในถ้ำมืดมองไม่เห็นอะไร พอมีปัญญาคือแสงสว่างเกิดขึ้น เราก็เห็นและรู้ว่าในถ้ำนั้นมีอะไรคือนิพพานไม่หลงเดินชนโน่นชนนี่อีก 

3. จากอริยสัจจ์ 4 ต้องมี มรรค 8 จึงเกิด นิโรธ ได้ ซึ่งสัมมาสติ อยู่ใน มรรค 8 และมหาสติ น่าจะจัดอยู่ในสัมมาสติ และเมื่อถึงนิโรธ ก็เป็นสภาวะนิพพานนั่นเอง

 จากคุณ : อนัตตา [ 7 ก.ย. 2543 / 09:50:15 น. ]  
     [ IP Address : 203.151.2.159 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 3 : (อนัตตา) 
ขอแก้คำผิดครับ 
1.3 ทางโลกก็ทำให้ฉลาด ทางธรรมก็ทำให้พ้นทุกข์
 จากคุณ : อนัตตา [ 7 ก.ย. 2543 / 09:53:19 น. ]  
     [ IP Address : 203.151.2.159 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 4 : (ขาโจ๋) 
คำว่าจิตว่างนี่   ว่างจากอะไร   ว่างอย่างไร   มันแปลความหมายได้หลายอย่าง 
เคยเห็นคนพูดใน  ทีวี  ว่าไม่มีอัตตา   ทำงานด้วยจิตว่าง  แต่ก็ยังทะเลาะกัน  งงจริง ๆ  
ถ้าว่าจิตที่ไม่มีอะไรจะมาปรุงแต่งได้อีกแล้ว   ใครว่าดีว่าเลวก็ไม่สามารถสั่นคลอนได้  
จิตที่มีสภาวะรู้อยู่ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง  เราคือจิตที่มาอาศัยอยู่ชั่คราวเท่านั้น     รู้อย่างนี้น่าจะเป็นตัวปัญญา     ถ้าอันนี้เป็นนิพพานชั่วคราวก็น่าจะใช่ 
แต่ว่าถ้าว่างอย่างอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้เกาะยึดอยู่กับลมหายใจก็น่าที่จะพลาดแล้ว  เพราะสติเริ่มต้นยังเอาไว้ไม่ได้ก็อย่าไปพูดถึงอารมณ์พระนิพพานเลย 
ถ้าย้อนว่ายังต้องยึดลมอยู่ยังมีอัตตาก็ยังละไม่ได้    ก็เราผู้เป็นโลกีย์ชนยังต้องกำหนดด้วยอานาปานุสติเป็นหลักยึด     แม้พระอริเจ้าเบื้องต่ำก็ยังต้องกำหนด 
พระอรหันต์เท่านั้นมีสติรู้ลมหายใจเข้าออกเป็นปกติ 
ต้องย้อนหลังฟังคำตรัสของพระพุทธเจ้ากับพระอานนท์  " ตถาคตเป็นผู้มากไปด้วยอานาปานุสติ "  และ " ตถาคตระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก " 
ถ้าให้เล่าเป็นเรื่องราวก็ต้องรบกวน  คุณดังตฤน ,  คุณประสงค์  มีนบุรี 
ขอแสดงความเห็นเท่านี้ 
 จากคุณ : ขาโจ๋ [ 7 ก.ย. 2543 / 14:31:03 น. ]  
     [ IP Address : 202.183.179.186 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 5 : (ขาโจ๋) 
ขออีกหน่อยเถอะ   ปัญญาคือจิตที่มีสภาวะรู้สัจจธรรมอยู่  ไม่มีอะไรปรุงแต่ง 
เมื่อไม่ปรุงแต่ง  จิตก็ไม่เศร้าหมอง    มันก็ไม่มีความทุกข์ใจ    ก็นี่น่าจะเป็นประโยชน์ของปัญญา 
นึกได้  คิดได้  พูดได้   ทำงานได้ถ้าอารมณ์ใจที่ประกอบด้วยปัญญาทรงอยู่ได้ 
พูดไปก็ต้องไปลงที่ตัวสติสมาธิที่กำหนดไว้อีกนั้นแหละ   กว่าจะถึงขั้นนี้ได้ก็หืดขึ้นคอเชียวแหละ  
สำคัญที่ว่าพอตั้งอารมณ์ดีแล้วพอทำงานได้หน่อยก็เผลอ    พบเห็นมามากมายที่ว่าจิตว่างแบบขาดสติรับรู้ 
 จากคุณ : ขาโจ๋ [ 7 ก.ย. 2543 / 14:41:42 น. ]  
     [ IP Address : 202.183.179.186 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 6 : (listener) 
ปัญญา คือรู้ตามความเป็น จริง ว่านี้คือ ทุกข์ นี้คือเหตุแห่งทุกข์ นี้คือความดับทุกข์ นี้คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ 

เมื่อรู้กระจ่าง ก็จะตัดความหลง ความอยาก ความยึดถือ อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ได้ 

ปัญญา คือการตัดพันธนาการ 
วิมุติ คือการหลุดจากพันธฯาการ 
นิพพาน คือ ความอิสระ หลังจากหลุดจากพันธนาการ 

 จากคุณ : listener [ 7 ก.ย. 2543 / 14:52:38 น. ]  
     [ IP Address : 203.126.110.34 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 7 : (อนัตตา) 
เรียนคุณ ขาโจ๋ 
          ขออนุญาตแสดงความเห็นที่ถามถึง จิตว่าง 
ในความเห็นของผม จิตว่าง คือ ว่างจากกิเลสรบกวนจิตใจครับ
 จากคุณ : อนัตตา [ 7 ก.ย. 2543 / 17:34:57 น. ]  
     [ IP Address : 203.151.2.159 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 8 : (Vicha) 
กระทุ้ที่ตั้งผ่านมา ช่วงนี้ทั้งหมด ตั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 
หาได้มีเจตนาอย่างอื่นไม่  
        คำว่าปัญญา และนิพพาน สามารถตอบได้หลาย ความหมายชึ่งแต่ละท่านก็มีคำตอบของตนเอง   และแต่ละท่าน  
ต่างก็แสดงได้อย่างดีเยียม ผมขออนุโมทนาสาธุ  ต่อไปผมจะตอบคำถามที่ผมถามขึ้น  
ตามแนวคิดของผมและในพระไตรปิฏก ผสมกับแนวคิดของท่านพุทธทาส ในเมื่อกล่าวถึงท่านในหมายเหตุ ก็ต้องกล่าวต่อ 
       ตอบ ข้อ 1.  ปัญญานี้คืออะไร?  ปัญญาคือความเห็นถูก รู้วิธิปฏิบัติถูก และปฏิบัติได้ถูก 
                            ปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร?  ปัญญาเกิดขึ้นได้ด้วยการอบรม  หมั่นพิจารณาอยู่เนื่องๆ ในการปฏิบัติ  
จนรู้เห็นทางที่ถูก 
                            ปัญญามีประโยชน์อะไร? ประโยชน์ของปัญญาคือแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและดี  
ถ้าตามที่ท่านพุทธทาสกล่าวคือ 
                                                                           ปัญญาทำให้รอดพ้น หรือหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ 
       ตอบข้อ 2.   ปัญญากับนิพพานเหมือนกันอย่างไร?  เหมือนกันคือทำให้รอดพ้นจากความทุกข์  ทำให้ห่างไกลจากกิเลส  
ทำให้ระงับทุกข์ได้ 
                            ปัญญากับนิพพานต่างกันอย่างไร? 
                                         กล่าวถึงปัญญา ผมเอาคำกล่าวของท่านพระสารีบุตร โดยสรุป  
ปัญญากับเวทนาแยกออกจากกันไม่ได้   ถึงจะมีความหมายคนละอย่าง   ปัญญากับสัญญาแยกออกจากกันไม่ได้  
ถึงจะมีความหมายคนละอย่าง 
ปัญญากับสังขารแยกออกจากกันไม่ได้  ถึงจะมีความหมายคนละอย่าง ปัญญากับวิญญาณแยกออกจากกันไม่ได้  
่ถึงจะมีความหมายคนละอย่าง ดังนั้นปัญญาเมื่อเกิดก็จะเกิดร่วมกับ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ 
                                        กล่าวถึงนิพพาน นิพพานนั้น คือดับกิเลส  หรือสูญญตา หรือตามที่ท่านพุทธทาสกล่าวคือ  
ความไม่ยึดมั่นถือมั่น  ในสิ่งทั้งปวง  ตามความหมายในพระไตรปิฏก คือธรรมชาติที่ไม่มีการปรุงแต่ง และไม่ถูกปรุงแต่ง  
(ไม่ใช่อัตตา) นิพพานนั้นหลุดพ้นจาก รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ   อย่างสิ้นเชิง 
        ตอบข้อ 3. ทำไม่ต้องมีมหาสติ นิพพานจึงบังเกิด? 
                            คำตอบ ต้องยกปฏิจสมุทปบาทขึ้นมา  จะไม่ขอกล่าวถึง อวิชชา สังขาร วิญญาณ  นามรูป  
เดียวจะไม่เข้าใจกันใหญ่เพราะละเอียดไป  มาเริ่มที่ อยตนะทั้ง 6 คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และ ใจ บังเกิด ผัสสะ บังเกิดเป็น  
เวทนา แต่จะไม่กล่าวถึง ตัณหา อุปปาทาน ภพ ชาติ ซึ่งมันหยาบไป  เฉพาะ อายตนะทั้ง 6  ผัสสะ และเวทนา ใน 1 วินาที  
เกิดขึ้นได้หลายอย่าง ถ้าไม่มีสติที่ละเอียด มันก็รั่วออกมาเป็นตัณหา เป็นกิเลสอย่างกลางและอย่างหยาบทันที่  
แล้วนิพพานจะบังเกิดได้ง่ายหรือ จึงต้องมีมหาสติ เพื่อปิดรูรั่วนั้น เมื่อสติสมบูรณ์พร้อมแล้ว  ปัญญา ก็จะเข้าไปประหาร  
อนุสัยกิเลส ทันที่ (ความจริงแล้ว  สมาธิ  ศรัทธา และความเพียร ต้องสมบูรณ์พร้อม)
 จากคุณ : Vicha [ 7 ก.ย. 2543 / 21:15:32 น. ]  
     [ IP Address : 203.151.36.3 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 9 : (Vicha) 
ทุกท่านสามารถแสดงความคิดเห็นต่อ เพราะมีแต่ประโยชฯ์หาได้เกิดโทษไม่
 จากคุณ : Vicha [ 7 ก.ย. 2543 / 21:22:45 น. ]  
     [ IP Address : 203.151.36.3 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 10 : (ขาโจ๋) 
เรียน  คุณ อนัตตา   ถัาคุณตอบ   ว่าว่างจากกิเลสมารบกวนจิตใจ  ผมก็น้อมวันทาด้วยความจริงใจ 
แต่สงสัย  คุณ  Vicha   ที่ว่า  สูญญตา  นั้นหมายถึงอะไร   เคยได้ยินเขาว่ามา 
บ้างก็ว่า  นิพพานสูญ ,  กิเลสสูญ ,  เป็นพระอรหันต์ตายแล้วก็สูญ 
บ้างก็ว่าตายแล้วก็ดับสูญไปเหมือนเหมือนดวงประทีบที่ดับไป   ก็ฟัง ๆ  เขามา 
ยังสงสัยอยู่......ถ้าตายแล้วสูญโญ    เราจะประพฤติปฏิบัติไปทำไม   เราก็เอาแค่เป็น  เทวดาเป็ฯนางฟ้าไม่ดีกว่าเหรอ
 จากคุณ : ขาโจ๋ [ 7 ก.ย. 2543 / 23:42:23 น. ]  
     [ IP Address : 202.183.179.231 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 11 : (ดังตฤณ) 
แนวการตั้งกระทู้เชิงถามของคุณ Vicha ได้ประโยชน์ประเทืองปัญญาดีจริงครับ
 จากคุณ : ดังตฤณ [ 8 ก.ย. 2543 / 09:32:21 น. ]  
     [ IP Address : 203.155.246.214 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 12 : (Vicha) 
ตอบคุณ ขาโจ่ สูญญตา ที่ผมเข้าใจ คืออัตตาสูญ หรือไม่มีอัตตา ก็คือกิเลสดับสูญ หาใช่นิพพานสูญ
 จากคุณ : Vicha [ 8 ก.ย. 2543 / 21:17:05 น. ]  
     [ IP Address : 203.151.36.3 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 13 : (นายโจโจ้) 
มีคำถามครับผม ต่อข้อความที่ว่า "ตอบ ข้อ 1.  ปัญญานี้คืออะไร?  ปัญญาคือความเห็นถูก รู้วิธิปฏิบัติถูก และปฏิบัติได้ถูก" นั้น ความเห็นถูกนั้น ผมเคยทราบมาว่า เรียกกันว่า "สัมมาทิฏฐิ" ส่วนความหมายของคำว่าปัญญานั้น ถ้าผมจะเขียนบรรยาย คงจะใกล้เคียงที่สุดกับที่คุณอนัตตาบรรยายไว้ครับ ส่วนความหมายเพิ่มเติมก็เข้าใจเช่นเดียวกับท่านอื่นๆเกือบทั้งหมดครับ 

กล่าวโดยย่อตามที่ผมเข้าใจในปัจจุบัน ปัญญาคือความรู้ชัด รู้แจ้ง รู้ชนิดหมดสิ้นสงสัย เกิดจากญาณซึ่งหมายถึงความเห็นชัด คือต้องเห็นชัดก่อน จึงจะรู้ชัดได้ ส่วนการปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญานั้น เกิดจากการที่ผู้ปฏิบัติทำการเพ่ง (ทำให้เห็นชัด - หมายถึงการปฏิบัติสมถะกรรมฐานจนจิตนิ่ง ซึ่งเป็นการพักผ่อนหรือรวมกำลัง) จนเห็นชัด แล้วจึงมาดำเนินวิปัสสนาโดยจิตที่มีกำลัง/จิตที่เห็นชัดนั้นไปพิจารณาสภาวะที่ทำให้เกิดทุกข์อย่างเป็นกลาง ซึ่งจะทำให้สามารถขจัดอวิชชาออกไปได้ 

ผิดถูกอย่างไร รบกวนท่านผู้รู้ช่วยแก้ไขด้วยครับ _/|\_

 จากคุณ : นายโจโจ้ [ 9 ก.ย. 2543 / 13:36:39 น. ]  
     [ IP Address : 203.149.38.106 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 14 : (สุภะ) 
ผมคิดง่ายๆว่าปัญญาคือ "ความไม่หลง"  
ไม่หลงสมมติบัญญัติ หรือตัวเราของเรา 
ถึงจะมีความรู้ ก็แค่"รู้เรื่อง"เท่านั้น  
ยังไม่นับว่ามีปัญญา 
ถ้ายังหลงอยู่ก็นับว่ายังโง 
 
ปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไร  
"โยนิโสมนสิิการ" ครับ
 จากคุณ : สุภะ [ 9 ก.ย. 2543 / 13:38:24 น. ]  
     [ IP Address : 203.151.212.1 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 15 : (นายโจโจ้) 
ขออภัยที่มิได้เขียนโดยละเอียดครับ 
ปัญญาที่ผมกล่าวถึงนั้น กล่าวถึงเฉพาะภาวนามยปัญญาครับ เป็นปัญญาที่นำไปสู่ความหน่าย คลาย วาง หรือการเห็นไตรลักษณ์ครับ
 จากคุณ : นายโจโจ้ [ 9 ก.ย. 2543 / 19:18:59 น. ]  
     [ IP Address : 203.149.36.174 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 16 : (จิตฐิ) 
ปัญญานี้เกิดจากความคิดในสัจจธรรมอยู่เรื่อยๆ    ให้คอยสังเกตุดูความจริงของธรรมชาติ    เอาธรรมชาติความจริงนั้นๆ  น้อมเข้ามาสอนจิตเรา  ให้เห็นความจริงของธรรมชาติ   แต่การที่จิตจะเห็นได้นั้น  ต้องหมั่นสอนหมั่นชี้หมั่นอบรมจิตอยู่ตลอดเวลา  ต้องคอยเอาใจใส่เสียยิ่งกว่าดูแลเด็กอ่อน 100 คนเสียอีกค่ะ  

ความจริงแล้วสัจจธรรมเป็นของเรียบ ง่าย ธรรมดามาก แต่ที่เราเห็น 
และเข้าใจกันได้ยากเหลือเกิน  เพราะอวิชชาที่ปิดหูปิดตาเรามานาน 
แสนนานเหลือเกิน   เราจึงไม่เห็น  แถมยังเข้าใจว่าสิ่งธรรดาๆ อย่าง 
ธรรมชาติเนี่ย เป็นเรื่องลึกลับ ยากเย็นเข็นใจที่จะเห็น จะเข้าใจได้  
( ดิฉันเองก็เคยกุมขมับ คิดเช่นนั้นมานานมากทีเดียวค่ะ ถึงตอน 
นี้ยังว่าแปลกทั้งๆที่อยู่ตรงหน้าทุกๆจุด  ทำไม่เมื่อก่อนไม่เห็นนะ ฯลฯ ) 

บางท่านฝึกสติโดยใช้ลมหายใจ    การฝึกปัญญาที่ทำกันนี้จะมีสติตั้งใจมั่นเป็นกำลังสำคัญ   และนำอายาตนะทั้งหมดมาใช้เป็นเครื่องมือฝึกปัญญาสอนจิตให้เห็นความจริง  คือ  ไม่ว่าตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ (ความรู้สึกหรือfeelingต่างๆ ที่ได้รับการกระทบ  ) กระทบกับอะไรก็ตาม  จะสอนจิตให้รู้ตามถึงสภาวะต่างๆของไตรลักษณ์(ความไม่เที่ยง, ความทุกข์,  อนัตตา-ความไม่มี ) เรียกว่าหาหลักฐานพยานยืนยันให้จิตเห็นความจริงอยู่เสมอๆ      กิเลสมันขยันหาหลักฐานมาคอยหลอกจิตเราเสมอให้ติดอยู่กับวัฏนี้   ดังนั้น!!   เราจึงต้องมีความเพียร !!! ..เพียรหาหลักฐานมายืนยัน  ให้จิตเห็นในสัจจธรรมในความจริง     มาค้านต้านกับกิเลสมันบ้าง  จะยอมให้กิเลสมันหลอกจิตเรา โดยที่ไม่สู้กับมันนั้น คงไม่ได้เสียแล้ว   เวลาเหลือน้อยเต็มทนแล้วนะคะท่านทั้งหลาย 

หน้าที่คืออบรมจิต  ทำไปเรื่อยๆ...จะใช่ญาณอย่างที่คุณโจโจ้พูดหรือ 
เปล่าก็สุดรู้ค่ะ  แต่มันจะมีบางสิ่งเข้ามาในจิตแทนที่ความสงสัย  มัน 
เป็นความรู้เห็นที่เป็นไปตามสภาวะจิตที่รู้เห็นความจริงอยู่เสมอๆ 
( เพื่อนๆเรียกว่า  พลังธรรม )  และแล้ว..ความติด  ความข้อง  
ความสงสัยต่างๆ  มันก็ค่อยๆคลาย  จางไป   หลายอย่างที่เคยสงสัย  
พอวางไว้กลับมาทำหน้าที่อบรมจิตต่อไป  พอ5-6เดือนผ่านไปเรียก 
ว่าลืมไปแล้วเสียด้วยซ้ำว่าเคยสงสัยอะไร   แต่พอมีเพื่อนถามในสิ่ง 
ที่เราเคยสงสัย  กลับตอบได้เป็นตุเป็นตะ  แล้วก็มานั่งงงกับคำตอบ 
นั้นว่าออกมาจากไหนกัน   รู้ได้อย่างไรถึงพูดเสียอย่างกับว่ารู้จริง 
อย่างมั่นใจเสียเหลือเกิน   มันก็เป็นอย่างนี้ของมันเองค่ะ  แล้วก็ 
ต้องวางไป  ไปยึดอะไรกับมันก็ไม่ได้อีก 

เกิด-ดับ  เกิด-ดับ  ถ้าอยู่ตรงความจำ  ความรู้  ก็สัมพัสได้ระดับหนึ่ง   ถ้าสอนลงถึงใจก็ระดับหนึ่ง   เมื่อซึมซับเข้าไปในใจเรื่อยๆก็จะมีความละเอียดเห็นความจริงในการเกิด-ดับขึ้นไปเรื่อยๆอีก   นั่นเป็นขั้นตอนของธรรมชาติเอง    ไม่ต้องไปเร่งอะไร   จะเร่งจริงๆก็ไม่ได้เสียด้วย   ต้องไปตามเหตุ-ตามปัจจัยและก็รอวาระของมันจะส่งผลเองค่ะ

 จากคุณ : จิตฐิ [ 9 ก.ย. 2543 / 21:26:56 น. ]  
     [ IP Address : 24.15.144.25 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 17 : (ประสงค์ มีนบุรี) 
ตอบปัญหา คุณ Vicha ครับ 
1. ปัญญานี้คืออะไร?  
ตอบ     ปัญญา  ความรู้ทั่ว,  
ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้เข้าใจชัดเจน,  
ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ  
ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น  
และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ,  
ความรอบรู้ในกองสังขารมองเห็นตามเป็นจริง  
ดู ไตรสิกขา, สิกขา 
(จากพจนานุกรมฯ  ของท่านพระธรรมปิฏก) 

เกิดขึ้นได้อย่างไร?  
ตามความเข้าใจของผม 
เกิดได้ด้วยปัจจัย 3 ประการคือ 
1.โดยการฟัง 
2.โดยการคิด 
3.โดยการสังเกต 

มีประโยชน์อะไร? 
มีไว้ประหารกิเลส 

2. ปัญญากับนิพพาน เหมือนกันหรือต่างกัน  
ถ้าเหมือนกันเหมือนอย่างไร? 
เหมือนกันเพราะต่างก็เป็นนามธรรมด้วยกัน 
ต่างกันเพราะ   ปัญญาเป็นสังขารขันธ์(เป็นขันธ์) 
                       นิพพานไม่ใช่ขันธ์ 

3. ทำไม่ต้องมีมหาสตินิพพานจึงบังเกิด? 
นิพพานไม่เกิด ไม่แก่  ไม่ตาย จึงบังเกิดไม่ได้ 
คำถามข้อนี้ถามไม่ถูก 
กรุณาถามใหม่ครับ

 จากคุณ : ประสงค์ มีนบุรี [ 9 ก.ย. 2543 / 21:43:32 น. ]  
     [ IP Address : 203.147.9.55 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 18 : (Vicha) 
ตอบคุณโจโจ้ ทุกท่านที่ตอบมานั้นต่างมีการไตร่ตรองจากการได้ยินได้ฟัง หรือจิตมยปัญญามาก่อน  
หรือ ภาวนามยปัญญามาก่อน ตามประสบการณ์ ชึ่งต่างก็มีส่วนถูก  
ตามส่วนที่แต่ละท่านเห็นและเข้าใจและมีประสบการณ์ ถ้าจะยกเอาคำตรัสของพระพุทธเจ้า "ปัญญา  
มีหนึ่งเดียว คือนิพพาน" ที่ผมเคยอ่านผ่านสายตามา ถ้ากล่าวตามโลกบัญญัติในทางพุทธศาสนา  
ปัญญามี 3 ระดับ 1.สุตะมยปัญญา(ปัญญาจากการฟัง)  
2.จิตมยปัญญา(ปัญญาจากการคิดไตร่ตร่อง) 3.ภาวนามยปัญญา(ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา  
ทั้งสมถะและวิปัสสนา) ชึ่งผมร่วม ลงไปที่ ความเห็นถูก การรู้ในการปฏิบัติถูก การปฏิบัติได้ถูก  
เป็นการสรุปของผมที่แสดงออกมาอาจไม่ถูกต้องทั้งหมดก็ได้  
แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำปัญญาตามบัญญัติ และผมไม่ได้ปฏิเสจ ของท่านผู้อื่น
 จากคุณ : Vicha [ 10 ก.ย. 2543 / 22:13:51 น. ]  
     [ IP Address : 203.151.36.3 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 19 : (Vicha) 
ตอบคุณประสงค์ ที่คุณประสงค์อธิบายมาในข้อ 1 ถึง ข้อ 2  
ผมไม่มีความเห็นขัดแย้งและผมก็เห็นด้วย  ส่วนข้อ 3. ผมจะกล่าวเน้น ลงไปที่การปฏิบัติในส่วนของ  
พละ 5 คือ 1.สติ 2.สมาธิ 3.ปัญญา 4.ศรัทธา 5.ความเพียร และคำว่าสติปฐาน 4  
นั้นสติยิ่งมากก็จะมีผลดีมาก แต่ก็แล้วแต่การปฏิบัติของแต่ละท่านที่มีอุปนิสัยต่างๆ กันมา 
และคำว่า บังเกิด ของผม ในข้อ 3. ผมเอาคำพื้นๆ ที่สื่อกันเข้าใจในภาษาชาวบ้าน  
ความจริงควรกล่าวว่า บรรลุ หรือตรัสรู้ ผมขอบคุณ คุณประสงค์มากที่เตื่อน
 จากคุณ : Vicha [ 10 ก.ย. 2543 / 22:30:23 น. ]  
     [ IP Address : 203.151.36.3 ] 
 

จบกระทู้บริบูรณ์

 กลับหน้าแรก