อุบาลี, เอตทัคคมหาสาวกผู้ทรงวินัย(๑๒,๑๗)

       พระอุบาลี  ท่านเกิดในวรรณะหีนชาติ (วรรณะชั้นต่ำ) ในตระกูล

ช่างกัลบก   และเป็นช่างกัลบกประจำพระองค์เจ้าชายศากยะทั้งหลาย

คือ พระเจ้าภัททิยศากยะ อนุรุทธะ อานนท์ ภัคคุ กิมพิละ และเทวทัต.

                                         การออกบวช

       ความจริงพระอุบาลี  ตั้งแต่แรกไม่ได้ตั้งใจที่จะออกบวช  เพียง

แต่ตามมาส่งพระศากยะทั้งหลายทั้ง ๖ พระองค์  ด้วยความจงรักภักดี

       ครั้งนั้น อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาเมื่อจะกลับ คิดว่า

       เจ้าศากยะทั้งหลายเหี้ยมโหดนัก จะพึงให้ฆ่าเราเสียด้วยเข้าพระทัยว่า

       อุบาลีนี้ให้พระกุมาร  ทั้งหลายออกบวช  ก็ศากยกุมารเหล่านี้ยัง

ทรงผนวชได้ ไฉนเราจักบวชไม่ได้เล่า 

       เขาแก้ห่อเครื่องประดับเอาเครื่องประดับนั้นแขวนไว้บนต้นไม้

แล้วพูดว่า ของนี้   เราให้แล้วแล ผู้ใดเห็น ผู้นั้นจงนำไปเถิด แล้วเข้าไป

เฝ้าศากยกุมารเหล่านั้น ศากยกุมารเหล่านั้น ทอดพระเนตรเห็นอุบาลี

ผู้เป็นภูษามาลา กำลังเดินมาแต่ไกล  ครั้นแล้วจึงรับสั่งถามว่า

       พนาย อุบาลีกลับมาทำไม 

       พระอุบาลี พระพุทธเจ้าข้า เมื่อข้าพระพุทธเจ้าจะกลับมา ณ ที่นี้

คิดว่าเจ้าศากยะทั้งหลายเหี้ยมโหดนัก  จะพึงให้ฆ่าเราเสียด้วยเข้า

พระทัยว่า อุบาลีนี้ให้พระกุมารทั้งหลายออกบวช ก็ศากยกุมารเหล่านี้

ยังทรงผนวชได้ ไฉน เราจักบวชไม่ได้เล่า

       ข้าพระพุทธเจ้านั้นแก้ห่อเครื่องประดับแล้ว เอาเครื่องประดับ

นั้นแขวนไว้บนต้นไม้  แล้วพูดว่า ของนี้เราให้แล้วแล ผู้ใดเห็น

ผู้นั้นจงนำไปเถิด แล้วจึงกลับมาจากที่นั้น พระพุทธเจ้าข้า

       ศ. พนาย อุบาลี ท่านได้ทำถูกต้องแล้ว เพราะท่านกลับไป

เจ้าศากยะทั้งหลายเหี้ยมโหดนัก จะพึงให้ฆ่าท่านเสียด้วยเข้าพระทัยว่า

อุบาลีนี้ให้พระกุมารทั้งหลายออกบวช ฯ  

       ลำดับนั้น ศากยกุมารเหล่านั้น พาอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาเข้าไป

เฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วถวายบังคมประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วน

ข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกหม่อมฉันเป็นเจ้าศากยะ

ยังมีมานะ อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้เป็นผู้รับใช้ของหม่อมฉันมานาน

ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้บวชก่อนเถิด พวก

หม่อมฉันจักทำการอภิวาท การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่

อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ ความถือตัวว่าเป็นศากยะ

ของพวกหม่อมฉันผู้เป็นศากยะจักเสื่อมคลายลง  

       ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคโปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลา

บวชก่อนแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้ศากยกุมารเหล่านั้นผนวช

ต่อภายหลัง ฯ

       ครั้นต่อมา ในระหว่างพรรษานั้นเอง ท่านพระภัททิยะได้ทำให้  

แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ท่านพระอนุรุทธะได้ยังทิพยจักษุให้เกิด ท่านพระอานนท์

ได้ทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล พระเทวทัตได้สำเร็จฤทธิ์ชั้นปุถุชน ฯ   

       ท่านพระอุบาลีเถระเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ทรงวินัย ได้ยินว่า

พระเถระรับกรรมฐานในสำนักพระตถาคตพระองค์เดียว เจริญ

วิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต  เรียนพระวินัยปิฎกในสำนัก

พระตถาคตพระองค์เดียว 

                                         ผลงานและจริยาวัตร

       ท่านได้วินิจฉัยอธิกรณ์    เรื่องใหญ่ คือเรื่องพระทารุกัจฉกะ

เรื่องพระอัชชุกะ และเรื่องท่านพระกุมารกัสสป เทียบเคียงกับ

พระสัพพัญญุตญาณ  เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่า เป็นยอดของ

ภิกษุสาวกผู้ทรงวินัย ในปัญหากรรมของท่าน ในอดีตชาติมีเรื่อง

ที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้.

       ได้ยินว่า พระเถระนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ   

บังเกิดในครอบครัว ณ กรุงหงสวดี กำลังฟังธรรมกถาของพระศาสดา

วันหนึ่งเห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่ง

เอตทัคคะเป็นยอดของภิกษุสาวก ผู้ทรงวินัย กระทำกุศลให้ยิ่งยวด

ขึ้นไปปรารถนาตำแหน่งนั้น ท่านทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่าย

อยู่ในเทวดาและมนุษย์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็ถือปฏิสนธิในเรือน

กัลบก บิดามารดาตั้งชื่อท่านว่า อุบาลีกุมาร ท่านบรรพชาอุปสมบท

แล้วขอให้พระศาสดาตรัสสอนกรรมฐาน กราบทูลว่า

       ข้าแต่พระผู้เจริญ ขอได้โปรดทรงอนุญาตให้ข้าพระองค์อยู่ป่าเถิด

พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุเมื่อเธออยู่ป่า ก็จักเจริญแต่ธุระอย่างเดียว

แต่เมื่อเธออยู่ในสำนักเราวิปัสสนาธุระคือการอบรม คันถุธุระ คือ

การเล่าเรียนก็จักบริบูรณ์ พระเถระรับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว

กระทำการในวิปัสสนา ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต ครั้งนั้น พระศาสดา

ทรงให้ท่านเรียนพระวินัยปิฎกทั้งสิ้นด้วยพระองค์เอง ต่อมาท่าน

วินิจฉัยเรื่อง ๓ เรื่อง ที่กล่าวไว้แล้วในหนหลัง พระศาสดาประทาน

สาธุการรับรองในเรื่องแต่ละเรื่องที่ท่านวินิจฉัยแล้ว ทรงกระทำเรื่อง

ทั้ง ๓ เรื่องที่ท่านวินิจฉัยแล้วให้เป็นอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่อง จึงทรง

สถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของภิกษุสาวก

ผู้ทรงวินัยแล.

       ท่านได้เป็นกำลังสำคัญในการวิสัชนาพระวินัยในคราวปฐม

สังคายนา   เพราะที่ประชุมได้มีมติคัดเลือกพระอุบาลีให้ทำหน้าที่

วิสัชนาวินัย  ซึ่งท่านเองก็รับหน้าที่รวบรวมพระวินัย เกี่ยวเหตุการณ์

ในอาบัติต่างๆ มาจัดให้เป็นหมวดหมู่.

       ท่านได้สร้างธรรมทายาทจนสืบต่อพระธรรมวินัยถึงสมัย

สังคายนาครั้งที่ ๓  ดังมีรายละเอียดดังนี้

              พระโมคคัลลีติสสเถระเป็นศิษย์ของพระสิคควะ 

              พระสิคควะเป็นศิษย์ของพระโสณกะ

              พระโวณกะเป็นศิษย์ของพระทาสกะ

              พระทาสกะเป็นศิษย์ของพระอุบาลี

                                  ช่วงปลายชีวิต

       พระอุบาลีไม่พบหลักฐานว่าท่านนิพพานที่ใด เวลาใด  ซึ่งเป็น

เรื่องที่แปลก  เพราะในช่วงปลายชีวิตของท่านมีผลงานมากมาย และ

เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป  แต่วินิจฉัยว่าขณะนั้นท่านคงมีอายุใกล้เคียง

กับพระอนุรุทธและพระอานนท์ และคงนิพพานใกล้เคียงกัน.

#วินย. ๗/๓๔๑-๓๔๔; องฺ.เอก. ๑/๑/๔๗๔-๔๗๕;

วินย.อ. ๑/๑/๖๒-๖๓