เรวตขทิรวนิยะ,เอตทัคคมหาสาวกเลิศทางผู้อยู่ป่าเป็นวัตร(๓๔,๔๔)
        พระเรวตขทิรวนิยะ ชื่อเดิมของท่านคือ เรวต เหตุที่ท่านได้ ฉายาเช่นนั้นเพราะท่านหนีญาติได้มาอยู่ในป่าไม้ ขทิระ(ตะเคียน)นี้ เพราะคำว่า เรวตขทิรวนิยะ แปลว่า เรวตะผู้อยู่ในป่าไม้ตะเคียน. คำว่า วินยะ แปลว่า อยู่ป่า.
        พระเรวต เป็นบุตรนางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านพราหมณ์ชื่อ นาลกะ(นาลันทา ในปัจจุบัน) แคว้นมคธ ท่านเกิดเป็นน้องสุดท้อง มีพี่ชาย ๓ คน คือ อุปติสสะ (สารีบุตร), นายจุนทะ, นายอุปเสนะ มีพี่สาว ๓ คน คือ นางจาลา, นางอุปจาลา, นางสีสุปจาลา รวม ท่านแล้วมีพี่น้องทั้งหมด ๗ คน พระเรวตเป็นผู้มีความฉลาด เด็ดเดี่ยวตั้งแต่ยังเล็ก และบรรลุอรหัตตั้งแต่ยังเป็นสามเณร แต่เรียกว่าพระเถระ เป็นเพราะท่าน บรรลุพระอรหัตผลแล้ว อันเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เยาวชนรุ่นหลังที่จะนำมาเป็นแบบอย่าง ดังมีความพิสดารในชีวประวัติของท่านคือ
          ท่านพระสารีบุตร ละทรัพย์ ๘๗ โกฏิ ออกบวชแล้ว ได้ชักชวนพี่น้องบวช น้องสาว ๓ คน คือนางจาลา, นางอุปจาลา, นางสีสุปจาลา, (และ) น้องชาย ๒ คนนี้ คือ นายจุนทะ, นายอุปเสนะ, ให้บวชแล้ว. มีเพียงเรวตกุมารผู้เดียวเท่านั้นยังเหลืออยู่แล้วในบ้าน.
         ลำดับนั้น มารดาของท่านคิดว่า “อุปติสสะบุตรของเรา ละทรัพย์ประมาณเท่านี้บวชแล้ว(ยังชักชวน) น้องสาว ๓ คน น้องชาย ๒ คน ให้บวชด้วย, เรวตผู้เดียวเท่านั้นยังเหลืออยู่ ถ้าเธอจัก (ชักชวน) เรวตะแม้นี้ให้บวชไซร้, ทรัพย์ของเราประมาณเท่านี้จักฉิบหาย, วงศ์สกุลจักขาดสูญ เราจักผูกเรวตะนั้นไว้ ด้วยการอยู่ครองเรือน แต่ในกาลที่เขาเป็นเด็กเถิด.”
         ฝ่ายพระสารีบุตรเถระสั่งภิกษุทั้งหลายไว้ก่อนทีเดียวว่า “ผู้มีอายุถ้าเรวตะประสงค์จะบวช มาไซร้, พวกท่านจงให้เขา ผู้มาตรว่ามาถึงเท่านั้นบวช (เพราะ) มารดาของกระผมเป็นมิจฉาทิฏฐิ, ประโยชน์อะไรด้วยท่านทั้งสองนั้น อันเรวตะจะบอกลาเล่า? ผมเองเป็นมารดาและบิดาของเรวตะนั้น.”
                 มารดาได้ให้พระเรวตแต่งงานความใน มโนรถปูรณี อังคุตตรนิกาย ความว่า
         มารดาท่านได้นำนางทาริกาจากสกุลที่เสมอกัน มาให้ไหว้ย่าของเรวตะแล้วอวยพร กล่าวว่า แน่ะแม่ เจ้าจงเป็นคนแก่ยิ่งกว่าย่าของเจ้า เรวตะฟังถ้อยคำของคนเหล่านั้นแล้วคิดว่า นางทาริกานี้ยังอยู่ในปฐมวัย เขาว่า รูปมีอย่างนี้ของนางทาริกานี้จักเป็นเหมือนรูปย่าของเรา เราจักถาม ความประสงค์ของคนเหล่านั้นก่อน แล้วจึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย จะกระทำอย่างไร มารดาบิดาตอบว่า “เราบอกว่า พ่อเอ๋ย หญิงนี้จะถึงความชราเหมือน
อย่างย่าของเจ้า”. เรวตะนั้นถามว่า รูปของหญิงนี้จักเป็นเหมือนอย่างนี้หรือ. มารดาบิดาตอบว่า พ่อเอ๋ย เจ้าพูดอะไร ผู้มีบุญมากก็จะเป็น
อย่างนี้
        เรวตะนั้นคิดว่า ได้ยินว่า รูปนี้ก็จักมีหนังเหี่ยวโดยทำนองนี้ จักมีผมหงอก ฟันหักโดยทำนองนี้ เรายินดีในรูปเช่นนี้จะทำอะไร ได้ เราจักไปตามทางที่พี่ชายของเราไปแล้วนั่นแหละ จึงทำเป็นเหมือนยืนพูดกะเด็กหนุ่ม ๆ รุ่น ๆ กันว่า มาเถอะพวกเรา เราไปวิ่งกันแล้วออกไปเสีย มารดาบิดากล่าวว่า พ่อในวันมงคล เจ้าอย่าไปข้างนอกเลย.
      เรวตะนั้นทำเป็นเหมือนเล่นกับเด็กทั้งหลายอยู่ พอถึงวาระตนวิ่งก็ไปหน่อยหนึ่งแล้วกลับเดินกลับช้า ๆ พอถึงวาระอีกก็ไปให้เหมือนไกลกว่านั้นแล้วกลับมา ครั้งถึงวาระที่สามก็รู้ว่า คราวนี้เป็นเวลาของเราจะหนีไปในที่ต่อหน้านั่นเอง ไปจนถึงป่าซึ่งเป็นที่อยู่ของภิกษุผู้ถือบังสุกุล เป็นวัตร อภิวาทพระเถระแล้วขอบรรพชา
      พระเถระกล่าวว่า สัปบุรุษ เราไม่รู้จักเธอ เธอเป็นลูกของใคร และเธอก็มาโดยทั้งที่แต่งตัวอยู่เช่นนี้ ใครจะสามารถให้เธอบวช ได้เล่า เขายกแขนทั้ง ๒ ขึ้นร้องเสียงดังว่า เขาปล้นฉัน เขาปล้นฉัน ดังนี้ พวกภิกษุก็มามุงทั้งข้างโน้นข้างนี้กล่าวว่า สัปบุรุษ ในที่นี้ ไม่มีใครที่ชื่อว่าปล้นผ้าหรือเครื่องประดับของเธอเลย เธอจะพูดว่าเขาปล้นอย่างไร เรวตะกล่าวว่า ท่านผู้เจริญผมมิได้กล่าวหมายถึง ผ้าและเครื่องประดับ แต่กล่าวหมายถึงพวกท่านยังปล้นสมบัติข้าง
ในไม่ต้องบวชผมก่อนโปรดบอกให้พี่ชายของข้าพเจ้าทราบก่อน
         ภิกษุถามว่า ก็พี่ชายของเธอชื่อไร
        พระเรวตะตอบว่า ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ชื่ออุปติสสะ แต่ในเวลานี้คนทั้งหลายเรียกว่าสารีบุตร
       ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า อาวุโส เมื่อเป็นอย่างนั้น กุลบุตร ผู้นี้ก็เป็นน้องชายคนเล็กของพวกเรา พระธรรมเสนาบดีพี่ชายใหญ่ ของเราพูดไว้ก่อนเที่ยวว่า พวกญาติของเราล้วนเป็นมิจฉาทิฐิ ญาติของเราคนใดคนหนึ่งมา ก็จงให้เขาบวชด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งเถิด ดังนั้นจึงกล่าวว่ากุลบุตรนี้เป็นน้องตัวของพระเถระท่านทั้งหลายจงให้เธอบวชเถิด
       ดังนี้แล้ว บอกตจปัญจกกัมมัฎฐานแล้ว พระเถระเรียนกัมมัฏฐานฐานแล้วเข้าไปสู่ป่าไม้ตะเคียน ซึ่งมีประการดังกล่าวไว้ในที่ไม่ไกลอุปัชฌาย์อาจารย์บำเพ็ญสมณธรรม เมื่อท่านเพียรพยายามอยู่ด้วยตั้งใจว่าเรายังไม่บรรลุพระอรหัต ก็จักไม่ไปเฝ้าพระทศพลหรือพระเถระพี่ชาย ล่วงไป ๓ เดือน เป็นสัตว์ผู้สุขุมาลชาติบริโภคโภชนะอันปอนจิตต์ก็ไม่ประณีตไม่มุ่งหน้าอยู่ในพระกัมมัฎฐาน โดยล่วงไป ๓ เดือน ปวารณาออกพรรษาแล้วจึงบำเพ็ญสมณธรรมในที่นั้นแหละ เมื่อท่านบำเพ็ญสมณธรรมอยู่จิตต์ก็มีอารมณ์เป็น
อันเดียวแล้ว ท่านเจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต
      ในคัมภีร์ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มีความต่างไปตรงตอนหนีออกบวชดังนี้คือ มารดาบิดาให้เรวตะแต่งงานแม้มารดาของพระสารีบุตรเถระนั้น ประสงค์จะผูกเรวตกุมารผู้มีอายุ ๗ ขวบนั้น ด้วยเครื่องผูกคือเรือน จึงหมั้นเด็กหญิงในตระกูลที่มีชาติเสมอกัน กำหนดวันแล้ว ประดับตกแต่งกุมารแล้ว ได้พาไปสู่เรือนของญาติเด็กหญิง พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก.
       ลำดับนั้น เมื่อพวกญาติของทั้งสองผู้ทำการมงคลประชุมกันแล้ว, พวกญาติได้ให้เขาทั้งสองจุ่มมือลงในถาดน้ำแล้ว กล่าวมงคลทั้งหลาย หวังความเจริญแก่เด็กหญิง จึงกล่าวว่า “เจ้าจงเห็นธรรมอันยายของเจ้าเห็นแล้ว, เจ้าจงเป็นอยู่สิ้นกาลนาน เหมือนยาย นะแม่” เรวตกุมาร คิดว่า
“อะไรหนอแล? ชื่อว่าธรรมอันยายนี้เห็นแล้ว” จึงถามว่า “คนไหน? เป็นยายของหญิง.” ลำดับนั้น พวกญาติบอกกะเขาว่า “พ่อ คนนี้ มีอายุ ๑๒๐ ปี มีฟันหลุด ผมหงอก หนังหดเหี่ยวตัวตกกระ หลังโกงดุจกลอนเรือนเจ้าไม่เห็นหรือ? นั่นเป็นยายของเด็กหญิงนั้น.”เรวตะ. ก็แม้หญิงนี้ จักเป็นอย่างนั้นหรือ? พวกญาติ. ถ้าเขาจักเป็นอยู่ไซร้, ก็จักเป็นอย่างนั้น พ่อ.เรวตะคิดหาอุบายออกบวชเรวตะนั้นคิดว่า “ชื่อว่าสรีระ แม้เห็นปานนี้ จักถึงประการอันแปลกนี้ เพราะชรา, อุปติสสพี่ชายของเรา จักเห็นเหตุแล้ว.ควรที่เราจะหนีไปบวชเสียในวันนี้แหละ.”
       ทีนั้น พวกญาติอุ้มเขาขึ้นสู่ยานอันเดียวกันกับเด็กหญิงพาหลีกไปแล้ว. เขาไปได้หน่อยหนึ่งอ้างการถ่ายอุจจาระ พูดว่า “ท่านทั้งหลาย จงหยุดยานก่อน, ฉันลงไปแล้วจักมา” ดังนี้แล้วลงจากยานทำให้ชักช้านิดหน่อยหนึ่ง ที่พุ่มไม่พุ่มหนึ่งแล้วจึงได้ไป. เขาไปได้หน่อยหนึ่งแล้ว ลงไปด้วยการอ้างนั้นนั่นแลแม้อีก ขึ้นแล้วก็ได้ทำอย่างนั้นเหมือนกันอีก. ลำดับนั้น พวกญาติของเขากำหนดว่า “เรวตะนี้ หมั่นไปแท้ ๆ” จึงมิได้ทำการรักษาอย่างเข้มแข็ง. เขาไปได้หน่อยหนึ่งก็ลงไปด้วยการอ้างนั้นนั่นแลแม้อีกแล้ว พูดว่า “พวกท่าน จงขับไปข้างหน้า, ฉันจักค่อย ๆ เดินมาข้างหลัง” จึงลงไปแล้ว ได้บ่ายหน้าตรงไปยังพุ่มไม้.
              เรวตะได้บรรพชา
       แม้พวกญาติของเขา ได้ขับยานไปด้วยสำคัญว่า เรวตะจักมาข้างหลัง.” ฝ่ายเรวตะนั้นหนีไปจากที่นั้นแล้ว, ไปยังสำนักของภิกษุ ประมาณ ๓๐ รูป ซึ่งอยู่ในประเทศหนึ่ง ไหว้และเรียนว่า “ท่านขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงให้กระผมบวช.”พวกภิกษุ. ผู้มีอายุ เธอประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ พวกข้าพเจ้าไม่ทราบว่า เธอเป็นพระราชโอรสหรือเป็นบุตรของอำมาตย์ จักให้เธอบวชอย่างไรได้.”
เรวตะ. พวกท่านไม่รู้จักกระผมหรือ? ขอรับ.
พวกภิกษุ. ไม่รู้ ผู้มีอายุ.
เรวตะ. กระผมเป็นน้องชายของอุปติสสะ.
พวกภิกษุ. ชื่อว่าอุปติสสะนั่น คือใคร
เรวตะ. ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เรียกพี่ชายของกระผมว่า สารีบุตร เพราะฉะนั้น เมื่อกระผมเรียนว่า ‘อุปติสสะ’ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จึงไม่ทราบ.
พวกภิกษุ. ก็เธอเป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระหรือ?
เรวตะ. อย่างนั้น ขอรับ.
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “ถ้ากระนั้น มาเถิด พี่ชายของเธออนุญาตไว้แล้วเหมือนกัน” ดังนี้แล้ว ก็ให้เปลื้องเครื่องอาภรณ์ของเขาออกให้วางไว้ ณ ที่สุดแห่งหนึ่ง ให้เขาบวชแล้ว จึงส่งข่าวไปแก่พระเถระ.พระเถระ ฟังข่าวนั้นแล้ว จึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “พระเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายส่งข่าวมาว่า ‘ได้ยินว่า พวกภิกษุที่อยู่ป่าให้ เรวตะบวช’ ข้าพระองค์ไปเยี่ยมเธอแล้วจึงกลับมา.”
พระศาสดา มิได้ทรงยอมให้ไป ด้วยพระดำรัสว่า “สารีบุตร จงยับยั้งอยู่ก่อน.” โดยการล่วงไป ๒ – ๓ วัน
พระเถระก็ทูลลาพระศาสดาอีก.
พระศาสดามิได้ทรงยอมให้ไป ด้วยพระดำรัสว่า “สารีบุตร จงยับยั้งอยู่ก่อน แม้เราก็จักไป.”
             เรวตสามเณรบรรลุพระอรหัต
    ฝ่ายสามเณรคิดว่า “ถ้าเราจักอยู่ในที่นี้ไซร้ พวกญาติจักใจติดตามเรียกเรา (กลับ)” จึงเรียนกัมมัฏฐานจนถึงพระอรหัตแต่สำนัก
ของภิกษุเหล่านั้น ถือบาตรแลจีวร เที่ยวจาริกไปถึงป่าไม้สะแกในที่ประมาณ ๓๐ โยชน์แต่ที่นั้น ในระหว่าง ๓ เดือนภายใน พรรษานั่นแลบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.
แม้พระเถระปวารณาแล้ว ทูลลาพระศาสดาเพื่อต้องการไปในที่นั้นอีก.
พระศาสดาตรัสว่า “สารีบุตร แม้เราก็จักไป” เสด็จออกไปพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป. ในเวลาเสด็จไปหน่อยหนึ่ง
พระอานนทเถระยืนอยู่ที่ทาง ๒ แพร่ง กราบทูลพระศาสดาว่า “พระเจ้าข้า บรรดาทางที่ไปสู่สำนักขิงเรวตะ ทางนี้เป็นทางอ้อม ประมาณ ๖๐ โยชน์เป็นที่อยู่ของมนุษย์ ทางนี้เป็นทางตรง ประมาณ ๓๐ โยชน์ อันอมนุษย์คุ้มครอง พวกเราจักไปโดยทางไหน?”
พระศาสดา. อานน ก็สีวลี มากับพวกเรา (มิใช่หรือ)
อานนท์. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ถ้าสีวลี, เธอจงถือเอาทางตรงนั่นแหละ. พวกภิกษุอาศัยบุญของพระสีวลี
ได้ยินว่า พระศาสดามิได้ตรัสว่า “เราจักยังข้าวต้มและข้าวสวยให้เกิดขึ้นแก่พวกเธอ พวกเธอจงถือเอาทางตรง” ทรงทราบว่า “ที่นั่นเป็น ที่ให้ผลบุญแห่งแก่ชนเหล่านั้น ๆ” จึงตรัสว่า “ถ้าสีวลีมา เธอจงถือเอาทางตรง.”
     ก็เมื่อพระศาสดาทรงดำเนินไปทางนั้น พวกเทวดาคิดว่า “พวกเราจักทำสักการะแก่พระสีวลีเถระ พระผู้เป็นเจ้าของเรา” ให้สร้างวิหารในที่โยชน์หนึ่ง ๆ ไม่ให้เกินไปกว่าโยชน์หนึ่ง ลุกขึ้นแต่เช้าเทียว ถือเอาวัตถุมีข้าวต้มเป็นต้นอันเป็นทิพย์แล้วเที่ยวไปด้วยตั้งใจว่า “พระสีวลีเถระผู้เป็นเจ้าของเรา นั่งอยู่ที่ไหน?” พระเถระให้เทวดาถวายภัตที่นำมาเพื่อตน แก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข. พระศาสดาพร้อมทั้งบริวารเสวยบุญของพระสีวลีเถระผู้เดียว ได้เสด็จไปตลอดทางกันดารประมาณ ๓๐ โยชน์.
         ฝ่ายพระเรวตเถระ ทราบการเสด็จมาของพระศาสดา จึงนิรมิตพระคันธกุฎีเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า นิรมิตเรือนยอด ๕๐๐ ที่จงกรม ๕๐๐ และที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน ๕๐๐. พระศาสดาประทับอยู่ในสำนักของเรวตะเถระนั้นสิ้นกาลประมาณเดือนหนึ่งแล. แม้ประทับอยู่ในที่นั้น ก็เสวยบุญของพระสีวลีเถระนั่นเอง.
         ภิกษุมีมิจฉาทิฏฐิ
     ก็บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุแก่ ๒ รูป ในเวลาพระศาสดาเสด็จเข้าไปสู่ป่าไม้สะแก คิดแล้วอย่างนี้ว่า “ภิกษุทำนวกรรม (การก่อสร้าง) ประมาณเท่านี้อยู่ จักอาจทำสมณธรรมได้อย่างไร? พระศาสดาทรงทำกิจคือการเห็นแก่หน้า ด้วยทรงดำริว่า ‘เป็นน้องชายของพระสารีบุตร’ จึงเสด็จมาสู่สำนักของเธอผู้ประกอบนวกรรมเห็นปานนี้.”พระศาสดาทรงอธิษฐานให้ภิกษุลืมบริขารในวันนั้น แม้พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นแล้ว ได้ทรงทราบวาทะจิตของภิกษุเหล่านั้นแล้ว เพราะเหตุนั้น ประทับอยู่ที่นั้นสิ้นกาลประมาณเดือนหนึ่งแล้วในวันเสด็จออกไป ทรงอธิษฐานโดยประการที่ภิกษุเหล่านั้น ลืมหลอดน้ำมัน ลักจั่นน้ำ และรองเท้าของตนไว้ เสด็จออกไปอยู่ ในเวลาเสด็จออกไปภายนอกแต่อุปจารวิหารจึงทรงคายพระฤทธิ์.
     ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นกล่าวกันว่า “ผมลืมสิ่งนี้และสิ่งนี้ แม้ผมก็ลืม” ดังนี้แล้ว ทั้งสองรูปจึงกลับไป ไม่กำหนดถึงที่นั้น ถูกหนามไม้สะแกแทง เที่ยวไป พบห่อสิ่งของตน ซึ่งห้อยอยู่ที่ต้นสะแกต้นหนึ่ง ถือเอาแล้วก็หลีกไป. แม้พระศาสดาทรงพาภิกษุสงฆ์ไป เสวยบุญของพระสีวลีเถระ ตลอดการประมาณเดือนหนึ่งนั่นแลอีก เสด็จเข้าไปสู่บุพพาราม.
    ลำดับนั้นภิกษุเหล่านั้นล้างหน้าแต่เช้าตรู่ เดินไปด้วยตั้งใจว่า พวกเราจักดื่มข้าวต้มในเรือนของนางวิสาขา ผู้ถวายอาคันตุกภัต
ดื่มข้าวต้มแล้ว ฉันของเคี้ยวแล้วนั่งอยู่.
           นางวิสาขาถามถึงที่อยู่ของเรวตะ
    ลำดับนั้น นางวิสาขาถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ท่านผู้เจริญ ก็ท่านทั้งหลายได้ไปที่อยู่ของเรวตเถระกับพระศาสดาหรือ?”
ภิกษุแก่. อย่างนั้น อุบาสิกา.
วิสาขา. ท่านผู้เจริญ ที่อยู่ของพระเถระน่ารื่นรมย์หรือ?
ภิกษุแก่. ที่อยู่ของพระเถระนั่นเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ จักมีแต่
ที่ไหน? อุบาสิกา ที่นั้นรกด้วยไม้สะแกมีหนามขาว เป็นเช่นกับ
สถานที่อยู่ของพวกเปรต.
     ครั้งนั้น ภิกษุหนุ่มสองรูปพวกอื่นมาแล้ว.
อุบาสิกาถวายข้าวต้มและของควรเคี้ยวทั้งหลายแม้แก่ภิกษุ
หนุ่มเหล่านั้นแล้ว ถามอย่างนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุเหล่านั้น กล่าวว่า “อุบาสิกา พวกฉันไม่อาจพรรณนาได้ ที่อยู่ของพระเถระ เป็นเช่นกับเทวสภาชื่อสุธรรมาดุจตกแต่งขึ้นด้วยฤทธิ์.”
อุบาสิกาคิดว่า “ภิกษุพวกที่มาครั้งแรกกล่าวอย่างอื่น ภิกษุพวกนี้กล่าวอย่างอื่น ภิกษุพวกที่มาครั้งแรก ลืมอะไรไว้เป็นแน่ จักกลับไปในเวลาคลายฤทธิ์แล้ว ส่วนภิกษุพวกนี้จักไปในเวลาที่พระเถระตกแต่งนิรมิตสถานที่ด้วยฤทธิ์” เพราะความที่ตนเป็นบัณฑิตจึงทราบเนื้อความนั้น ได้ยืนอยู่แล้วด้วยหวังว่า “จักทูลถามในกาลที่พระศาสดาเสด็จมา.”
     ต่อกาลเพียงครู่เดียวแต่กาลนั้น พระศาสดาอันภิกษุสงฆ์แวดล้อม เสด็จไปสู่เรือนของนางวิสาขา ประทับนั่งเหนืออาสนะอันเขาตกแต่ง ไว้แล้ว. นางอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขโดยเคารพ ในเวลาเสร็จภัตกิจถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ทูลถามเฉพาะว่า
“พระเจ้าข้า บรรดาภิกษุที่ไปกับพระองค์ บางพวกกล่าวว่า ที่อยู่ของพระเรวตเถระ เป็นป่ารกด้วยไม้สะแก บางพวกกล่าวว่า เป็นสถานที่รื่นรมย์ ที่อยู่ของพระเถระนั่นเป็นอย่างไรหนอแล?”
พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้วตรัสว่า “อุบาสิกา จะเป็นบ้านหรือเป็นป่าก็ตาม พระอรหัตทั้งหลายย่อมอยู่ในที่ใด ที่นั้นน่ารื่นรมย์แท้”
       ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-
    “พระอรหันต์ทั้งหลาย อยู่ในที่ใด เป็นบ้านก็ตาม เป็นป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม, ที่นั้นเป็นภูมิสถานน่ารื่นรมย์.”
    แก้อรรถ
ในพระคาถานั้น มีความว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย ย่อมไม่ได้กายวิเวกในบ้านก็จริง, ถึงดังนั้น ย่อมได้จิตวิเวกอย่างแน่นอน, เพราะอารมณ์ทั้งหลายแม้เปรียบดังของทิพย์ ย่อมไม่อาจทำจิตของพระอรหันต์เหล่านั้นให้หวั่นไหวได้, เพราะเหตุนั้น จะเป็นบ้านหรือจะเป็นที่ใดที่หนึ่งมีป่า เป็นต้น, พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมอยู่ที่ใด. ภูมิประเทศนั้น เป็นที่น่ารื่นรมย์แท้.
      ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว.
           พวกภิกษุชมเชยบุญของเรวตะ
       วันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า “แม้สามเณรผู้เดียวทำเรือนยอด ๕๐๐ หลัง เพื่อภิกษุ ๕๐๐ รูป มีลาภ, มีบุญ. น่าชมจริง,”
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ?”
เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ด้วยถ้อยคำข้อนี้พระเจ้าข้า,”
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราไม่มีบุญ, ไม่มีบาป;(เพราะ) บุญและบาปทั้งสองเธอสละเสียแล้ว” ได้ตรัสพระคาถานี้ ในพราหมณวรรค
ว่า:-“บุคคลใดในโลกนี้ ล่วงเครื่องข้อง ๒ อย่างคือบุญและบาป, เราเรียกบุคคลนั้น ผู้ไม่โศก ปราศจากกิเลสเพียงดังธุลี ผู้หมดจดว่า เป็นพราหมณ์.”
        พระเถระได้ตำแหน่งเอตทัคค
     พระเรวตขทิรวนิยเถระมิได้อยู่เหมือนอย่างพระเถระเหล่าอื่นภิกษุทั่วไปเมื่อจะอยู่ในป่าก็ต้องเลือกป่า น้ำ และที่ภิกขาจารที่ ถูกใจจึงอยู่ในป่า แต่พระเรวตเถระไม่ยึดถือของที่ถูกใจเหล่านี้ อาศัยอยู่ในป่าตะเคียนที่ขระด้วยก้อนกรวดและก้อนหินบนที่ดอน
ต่อมาในภายหลัง พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางหมู่พระอริยะในเชตวันมหาวิหาร ทรงสถาปนาพระเรวตเถระไว้ใน ตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปกติอยู่ในป่าเป็นวัตร.
       พระเรวตถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโจร
ได้ยินว่าพระเรวตเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว ไปยังที่อุปัฏฐากพระศาสดาและของพระมหาเถระ มีพระธรรมเสนาบดีเป็นต้น อยู่ในที่นั้นเพียงวันเล็กน้อยเท่านั้น ก็กลับมาป่าไม้ตะเคียนนั่นแล ยับยั้งอยู่ด้วยสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติ และด้วยพรหมวิหารธรรม. เมื่อกาลเวลาล่วงไปด้วยอาการอย่างนี้ วัยถึงคร่ำคร่าเจริญโดยลำดับ. วันหนึ่งท่านไปยังที่บำรุงพระพุทธเจ้า อยู่ในที่ไม่ไกลแต่กรุงสาวัตถี ในระหว่างทาง. ก็โดยสมัยนั้นพวกโจรกระทำการปล้นในพระนคร ถึงพวกมนุษย์ผู้อารักขาไล่ติดตาม พากันหนีไปทิ้งห่อสิ่งของที่ลักมาในที่ใกล้พระเถระ. พวกมนุษย์ติดตามเห็นภัณฑะในที่ใกล้พระเถระแล้วพาไปด้วยหมายว่าเป็นโจร จึงแสดงแด่พระราชาว่า ผู้นี้เป็นโจรพระเจ้าข้า.
พระราชารับสั่งให้ปล่อยพระเถระแล้วตรัสถามว่า ท่านขอรับ ท่านกระทำโจรกรรมนี้หรือไม่?
พระเถระเพื่อจะประกาศกรรมเช่นนั้น ที่ตนไม่เคยกระทำตั้งแต่เกิดมาก็จริง ถึงกระนั้นกรรมนั้นอาตมาก็มิได้ทำ เพราะตัดกิเลส
ได้เด็ดขาด และไม่ควรกระทำในกรรมเช่นนั้น เมื่อจะแสดงธรรมแก่ภิกษุผู้อยู่ในที่ใกล้และแก่พระราชา จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า นับแต่เราออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ไม่รู้สึกถึงความดำริอันไม่ประเสริฐ ประกอบด้วยโทษเลย ในระยะกาลนานที่เราบวชอยู่นี้ เราไม่รู้สึกถึงความดำริว่า ขอให้
สัตว์เหล่านั้นจงถูกฆ่า ถูกเขาเบียดเบียน จงได้รับทุกข์ เรารู้สึกแต่การเจริญเมตตาอันหาประมาณมิได้ อบรมสั่งสมดีแล้วโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว เราได้เป็นมิตรเป็นสหายของสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวง ยินดีแล้วในการไม่เบียดเบียน เจริญเมตตาจิตอยู่ทุกเมื่อ เรายังจิตอันไม่ง่อนแง่น ไม่กำเริบให้บันเทิงอยู่ เจริญพรหมวิหารอันบุรุษผู้เลวทรามไม่ซ่องเสพ สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เข้าทุติยฌานอันไม่มีวิตกวิจาร ประกอบด้วยความเป็นผู้นิ่งเป็นอริยะ โดยแท้จริง ภูเขาศิลาล้วนไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่คงที่ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น ย่อมไม่หวั่นไหวดุจบรรพต เพราะสิ้นโมหะ ความชั่วแม้มีประมาณเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏเหมือนประมาณเท่าหมอกเมฆ แก่ท่านผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ผู้แสวงหาความสะอาดเป็นนิตย์ เมืองหน้าด่านเป็นเมืองอันเขาคุ้มครองแล้วทั้งภายในและภายนอกฉันใด ท่านทั้งหลายจงคุ้ม-ครองตนฉันนั้นเถิด ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เราไม่ยินดีต่อความตาย ไม่เพลิดเพลินต่อความ เป็นอยู่ แต่เรารอเวลาตาย เหมือนลูกจ้างคอยให้หมด เวลาทำงานฉะนั้น เราไม่ยินดีความตาย ไม่เพลิดเพลิน ความเป็นอยู่ แต่เรามีสติสัมปชัญญะรอท่าเวลาตาย พระศาสดาเราคุ้นเคยแล้ว เราทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพแล้ว ได้บรรลุประโยชน์ที่กุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตต้องการแล้ว บรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม
เถิด นี้เป็นคำสอนของเรา เราจักอำลาท่านทั้งหลายปรินิพพานในบัดนี้ เพราะเราเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง.
           พระเรวตขทิรวนิยเถระปรินิพพาน
     ครั้นแสดงข้อปฏิบัติอันเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างนี้แล้ว เมื่อจะถือเอาที่สุดแห่งข้อปฏิบัติอันเป็นประโยชน์ตน จึงกล่าวว่าเอาเถอะ เราจักปรินิพพาน เราเป็นผู้หลุดพ้นแล้วในที่ทุกสถาน. ก็แล ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นั่งขัดสมาธิเข้าฌานมีเตโชธาตุเป็นอารมณ์ เมื่อไฟลุกโพลงอยู่ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.
               บุรพกรรมในอดีตชาติ
       ได้ยินว่า ในอดีตกาลครั้งพระปทุมุตตระพุทธเจ้า พระเรวตะนี้บังเกิดในหงสวดี อาศัยกระทำการงานทางเรือ ที่ท่าปยาคประดิษฐานในแม่น้ำคงคา สมัยนั้น พระศาสดามีภิกษุแสนหนึ่งเป็นบริวารเสด็จจาริกไปจนถึงท่าปยาคประดิษฐาน เขาเห็นพระทศพลแล้วคิดว่า เราไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งคราว ขณะนี้เป็นขณะที่เราจะได้ขวนขวายกัลยาณกรรมไว้ จึงให้ผูกเรือขนานต่อกัน ดาดเพดานผ้าข้างบน ห้อยพวงมาลาของหอมเป็นต้น ลาดเครื่องลาดอัน วิจิตรประกอบด้วยผ้าเปลือกไม้ นิมนต์พระศาสดาพร้อมทั้งบริวาร เสด็จข้ามฟาก ในสมัยนั้น พระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุผู้อยู่ป่า เป็นวัตรองค์หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ นายเรือนั้นเห็นภิกษุนั้น จึงคิดว่า แม้เราก็ควรเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตรใน ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตดังนี้เหมือนกัน จึงนิมนต์พระศาสดาถวายมหาทาน ๗ วัน หมอบ ณ แทบบาทมูล ของพระศาสดา กระทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญแม้ข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตรในศาสนา ของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตเหมือนอย่างภิกษุที่พระองค์ ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเถิด พระศาสดาทรงเห็นว่า หาอันตรายมิได้ ทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตท่านจักเป็นผู้ยอดในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า แล้วเสด็จกลับไป แต่มิได้กล่าวถึงกรรมในระหว่างไว้.
#องฺ.เอก. ๑/๑/๓๕๗-๓๖๕; ธ.อ. ๑/๒/๒/๓๙๘-๔๑๑;
อป.อ. ๘/๑/๖๔๒-๖๔๘; เถร.อ. ๒/๒/๓/๔๖๖-๔๗๕