จตุกกนิบาตชาดก

๑. กาลิงควรรค

๑. จุลลกาลิงคชาดก เทวดากีดกันความพยายามของคนไม่ได้


[๕๐๒] ท่านทั้งหลาย จงเปิดประตูถวายให้พระราชาเหล่านี้เสด็จเข้าไปสู่ ภายในพระนคร ข้าพเจ้าชื่อว่านนทิเสน เป็นอำมาตย์ดุจราชสีห์ของ พระเจ้าอรุณ ได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดี จัดรักษาไว้เรียบร้อยแล้ว.
[๕๐๓] แน่ะดาบสโกง ท่านได้พูดไว้อย่างนี้ว่า ชัยชนะ จักมีแก่พวกพระเจ้า กาลิงคราช ผู้อดทนต่อภัยที่แสนยากจะอดทนได้ ความปราชัย จักมี แก่พวกอัสสกราช ชนทั้งหลายผู้ซื่อตรง ย่อมไม่พูดเท็จ.
[๕๐๔] ข้าแต่ท้าวสักกะ เทวดาทั้งหลายยังประพฤติล่วงมุสาวาทอีกหรือ พระองค์พึงตรัสแต่ถ้อยคำที่จริง ที่แท้อย่างยิ่งมิใช่หรือ ข้าแต่ท้าวมัฆวาน เทวราช ผู้เป็นใหญ่กว่าปวงชน พระองค์ทรงอาศัยเหตุอะไรหรือ จึงได้ ตรัสมุสา?
[๕๐๕] ดูกรพราหมณ์ เมื่อชนทั้งหลายพูดกันอยู่ ท่านก็เคยได้ยินแล้วมิใช่หรือ ว่า เทวดาทั้งหลาย ย่อมเกียดกันความพยายามของบุรุษไม่ได้ ความ ข่มใจ ความตั้งใจแน่วแน่ ความไม่แตกสามัคคีกัน ความไม่แก่งแย่งกัน การก้าวไปในกาลอันควร ความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว และความบากบั่น ของบุรุษ เพราะเหตุนั้นแหละ ชัยชนะ จึงมีแก่พวกพระเจ้าอัสสกะ.

จบ จุลลกาลิงคชาดกที่ ๑.

๒. มหาอัสสาโรหชาดก ว่าด้วยการทำความดีไว้ในปางก่อน


[๕๐๖] ผู้ใด ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ ไม่ให้ในคนที่ควรให้ ผู้นั้น ถึงจะได้ รับความทุกข์ในคราวมีอันตราย ก็ไม่ได้สหาย.
[๕๐๗] ผู้ใด ไม่ให้ทานในคนที่ไม่ควรให้ ให้ในคนที่ควรให้ ผู้นั้น ถึงจะได้ รับความทุกข์ในคราวมีอันตราย ย่อมได้สหาย.
[๕๐๘] การแสดงคุณวิเศษแห่งความเกี่ยวพัน และความสนิทสนมกันฉันท์มิตร ในชนทั้งหลายผู้ไม่มีอารยธรรม เป็นคนมักอวด ย่อมไร้ผล การแสดง คุณวิเศษแห่งความเกี่ยวพัน และความสนิทสนมกันฉันท์มิตร ที่กระทำ ในอารยชนทั้งหลายผู้ซื่อตรง คงที่ แม้เล็กน้อย ก็ย่อมมีผลมาก.
[๕๐๙] ผู้ใด ได้ทำความดีงามไว้แต่กาลก่อนแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า ได้ทำกิจที่ทำได้แสน ยากในโลก ภายหลัง เขาจะทำก็ตาม ชื่อว่า เป็นบุคคลผู้ควรบูชายิ่งนัก.

จบ มหาอัสสาโรหชาดกที่ ๒.

๓. เอกราชชาดก คุณธรรมคือขันติและตบะ


[๕๑๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเอกราช พระองค์เสวยกามคุณอันบริบูรณ์อย่างยิ่ง อยู่ในกาลก่อน มาบัดนี้ พระองค์ถูกโยนลงในบ่ออันขรุขระ เหตุไร จึงมิได้ละพระฉวีวรรณ และพระกำลังกายที่มีอยู่แต่เก่าก่อนเสียเลย?
[๕๑๑] ข้าแต่พระเจ้าทุพภิเสน ขันติ และตบะ เป็นคุณธรรมที่หม่อมฉัน ปรารถนามาแต่เดิมแล้ว บัดนี้ หม่อมฉันได้สิ่งปรารถนานั้นแล้ว เหตุไร จะพึงละฉวีวรรณ และกำลังกายที่มีอยู่แต่เก่าก่อนเสียเล่า.
[๕๑๒] ได้ทราบมาว่า กิจที่ควรทำทุกอย่างสำเร็จมาแต่ก่อนแล้ว เพราะข่มขี่ ครอบงำบุคคลผู้เปรื่องยศ มีปัญญา หม่อมฉันได้ยศอันยิ่งใหญ่แล้ว เหตุไร จักละฉวีวรรณ และกำลังกายที่มีอยู่แต่เก่าก่อนเล่า.
[๕๑๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งปวงชน สัตบุรุษทั้งหลาย บรรเทาความสุข ด้วยความทุกข์ หรือบรรเทาความทุกข์ด้วยความสุข เป็นผู้มีจิตเยือกเย็น ยิ่งนัก ในความสุข และความทุกข์ทั้งสองอย่าง ย่อมเป็นผู้มีจิตเป็นกลาง ทั้งในความสุข และความทุกข์ ดังตราชู ฉะนั้น.

จบ เอกราชชาดกที่ ๓.

๔. ทัททรชาดก ไม่ควรถือตัวในที่ที่เขาไม่รู้จัก


[๕๑๔] ข้าแต่พี่ทัททระ ถ้อยคำด่าว่าอันหยาบคายในมนุษยโลกเหล่านี้ ย่อมทำ ให้ฉันเดือดร้อน พวกเด็กๆ ชาวบ้านผู้ไม่มีพิษฤทธิ์เดช ยังมาด่าว่าเรา ผู้เป็นอสรพิษร้ายได้ว่า เป็นสัตว์กินกบกินเขียด และว่า เป็นสัตว์น้ำ.
[๕๑๕] บุคคลผู้ถูกขับไล่จากแว่นแคว้นของตน ไปอยู่ยังถิ่นอื่นแล้ว ควรสร้าง ฉางใหญ่ไว้ สำหรับเก็บคำหยาบคายทั้งหลาย.
[๕๑๖] บุคคลอยู่ในสำนักคนผู้ไม่รู้จักชาติ และโคตรของตน ไม่พึงทำการถือตัว ในที่ที่ไม่มีใครรู้จักตน โดยชาติ หรือโดยวินัย.
[๕๑๗] บุคคลผู้มีปัญญา แม้เปรียบเสมอด้วยไฟ เมื่อไปอยู่ต่างถิ่นไกล พึงอดทน แม้จะเป็นคำขู่ ตะคอกของทาสก็ตาม.

จบ ทัททรชาดกที่ ๔.

๕. สีลวีมังสชาดก ความลับไม่มีในโลก


[๕๑๘] ขึ้นชื่อว่าที่ลับ ย่อมไม่มีในโลก แก่คนผู้กระทำบาปกรรม ต้นไม้ที่เกิด ในป่าก็ยังมีคนเห็น คนพาลย่อมสำคัญบาปกรรมนั้นว่า เป็นที่ลับ.
[๕๑๙] ข้าพเจ้าย่อมไม่เห็นที่ลับ หรือแม้ที่ว่างเปล่าก็ไม่มี ในที่ใด ข้าพเจ้าไม่เห็น ที่ว่างเปล่า ที่นั้นก็ไม่ว่างเปล่าจากข้าพเจ้า.
[๕๒๐] มาณพผู้ใหญ่ ๖ คนนั้น คือ ทุชัจจะ ๑ สุชัจจะ ๑ นันทะ ๑ สุขวัจฉนะ ๑ วัชฌะ ๑ อัทธุวสีละ ๑ มีความต้องการธิดาของอาจารย์ พากันละธรรมเสีย.
[๕๒๑] ส่วนพราหมณ์มาณพ เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง มีปัญญา มีความเพียร เครื่องก้าวหน้าในสัจธรรม ตามรักษาธรรมไว้ จะพึงละสตรีลาภเสีย อย่างไรได้.

จบ สีลวีมังสชาดกที่ ๕.

๖. สุชาตาชาดก ได้รับโทษเพราะประมาท


[๕๒๒] ข้าแต่พระราชสวามีผู้ประเสริฐ ไข่ที่เก็บไว้ในจานทองนี้ เป็นไข่อะไร ลูกกลมเกลี้ยง มีสีแดง หม่อมฉันทูลถามพระองค์ถึงสิ่งนั้น โปรดตรัส บอกด้วย.
[๕๒๓] ดูกรพระเทวี เมื่อก่อนนี้ เธอเป็นหญิงหัวโล้น นุ่งผ้าท่อนเก่าๆ มือถือ ห่อพก เลือกเก็บผลไม้อันใดอยู่ สิ่งที่ฉันรับประทานอยู่ ณ บัดนี้ เป็น ผลไม้อันนั้น เป็นสมบัติประจำตระกูลของเธอ.
[๕๒๔] หญิงทราม เมื่ออยู่ในราชสกุลนี้ ย่อมร้อนรน ไม่รื่นรมย์ โภคสมบัติ ทั้งหลาย ก็ย่อมละเขาไปเสียสิ้น ท่านทั้งหลาย จงช่วยกันนำหญิงทรามคน นั้นคืนไปไว้ที่ที่ เขาจักเก็บผลไม้ประจำตระกูลขายเลี้ยงชีวิตได้ตามเดิม.
[๕๒๕] ข้าแต่พระมหาราช โทษเพราะความประมาทเหล่านี้ ย่อมมีได้แก่นารีผู้ ได้รับยศ ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดอดโทษแด่ พระนางสุชาดาเทวีเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์อย่าได้ ทรงพระพิโรธแด่พระเทวีเลย.

จบ สุชาตาชาดกที่ ๖.

๗. ปลาสชาดก ว่าด้วยขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ที่โคนไม้


[๕๒๖] ดูกรพราหมณ์ ท่านก็รู้ว่า ต้นทองกวาวนี้ ไม่มีจิต ไม่ได้ยินเสียงอะไร และไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะเหตุไร ท่านจึงเพียรพยายาม มิได้มีความ ประมาท ถามถึงสุขไสยาอยู่เสมอมา.
[๕๒๗] ต้นทองกวาวต้นใหญ่ ปรากฏไปในที่ไกล ตั้งอยู่ในภูมิประเทศราบเรียบ เป็นที่อยู่อาศัยของทวยเทพ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงนอบน้อมต้นทอง กวาวนี้ และเทพเจ้าผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้นี้ด้วย เพราะเหตุแห่งทรัพย์.
[๕๒๘] ดูกรพราหมณ์ ข้าพเจ้ามาเพ่งถึงความกตัญญูที่มีอยู่ในตน จักทำทดแทน คุณท่านตามสติกำลัง ความดิ้นรนของท่านผู้มาถึงสำนักของสัตบุรุษ ทั้งหลาย ไฉนจักเปล่าจากประโยชน์เล่า.
[๕๒๙] ไม้เลียบต้นใด ตั้งล้อมรอบอยู่เบื้องหน้าต้นมะพลับ มหาชนเคยบูชายัญ กันมาแต่ก่อน เป็นต้นไม้ใหญ่ ขุมทรัพย์เขาฝังไว้ที่โคนต้นไม้เลียบนั้นแล ไม่มีเจ้าของ ท่านจงไปขุดเอาทรัพย์นั้นเถิด.

จบ ปลาสชาดกที่ ๗.

๘. ชวสกุณชาดก ผู้ไม่มีกตัญญูไม่ควรคบ


[๕๓๐] ข้าแต่พระยาเนื้อ ขอนอบน้อมแด่ท่าน ข้าพเจ้าได้ทำกิจอย่างหนึ่งแก่ ท่าน ตามกำลังของข้าพเจ้าที่มีอยู่ ข้าพเจ้าจะได้อะไรตอบแทนบ้าง?
[๕๓๑] การที่ท่านเข้าไปอยู่ในระหว่างฟันของเรา ผู้มีเลือดเป็นภักษาหาร ผู้ทำ กรรมอันหยาบช้าอยู่เป็นนิตย์ ท่านยังเป็นอยู่ได้ นั่นก็เป็นคุณมากอยู่แล้ว.
[๕๓๒] น่าติเตียนคนที่ไม่รู้คุณที่เขาทำแล้ว ผู้ไม่ทำคุณให้ใคร และผู้ที่ไม่ทำ ตอบแทนคุณที่เขาทำก่อน ความกตัญญูไม่มีในคนใด การคบคนนั้น ย่อมไร้ประโยชน์.
[๕๓๓] บุคคลไม่ได้มิตรธรรมด้วยอุปการคุณที่ตนประพฤติต่อหน้าในผู้ใด ผู้นั้น บัณฑิตไม่ต้องริษยา ไม่ต้องด่าว่า พึงค่อยๆ หลีกออกห่างจากผู้นั้นไป เสีย.

จบ ชวสกุณชาดกที่ ๘.

๙. ฉวชาดก ว่าด้วยการนั่งที่ไม่สมควร


[๕๓๔] กิจทั้งหมดที่เราทั้งสองกระทำแล้ว เป็นกิจลามก คนทั้ง ๒ ไม่เห็นธรรม คนทั้ง ๒ เคลื่อนแล้วจากปกติเดิม คือ อาจารย์นั่งบนอาสนะต่ำบอก มนต์ และศิษย์นั่งบนอาสนะสูงเรียนมนต์.
[๕๓๕] เราบริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลีขาวสะอาด ปรุงด้วยเนื้อ (ของพระราชา พระองค์นี้) เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่สร้องเสพธรรมนั้น ที่พวกฤาษี สร้องเสพมาแล้ว.
[๕๓๖] ท่านจงหลีกไปเสียเถิด ขึ้นชื่อว่าโลกกว้างใหญ่ แม้คนอื่นๆ ก็หุงต้มกิน เพราะเหตุนั้น อธรรมที่ท่านประพฤติมาแล้ว อย่าทำลายท่านเสียเลย ดุจก้อนหินต่อยหม้อให้แตก ฉะนั้น.
[๕๓๗] ดูกรพราหมณ์ เราติเตียนการได้ยศ การได้ทรัพย์ และความประพฤติ เลี้ยงชีวิต ด้วยการทำตนให้ตกต่ำ หรือด้วยการประพฤติไม่เป็นธรรม.

จบ ฉวชาดกที่ ๙.

๑๐. สัยหชาดก ว่าด้วยการแสวงหาที่ประเสริฐ


[๕๓๘] บัณฑิตไม่พึงปรารถนาพื้นแผ่นดิน มีสัณฐานดุจกุณฑลท่ามกลางสาคร มีมหาสมุทรล้อมอยู่โดยรอบ พร้อมด้วยการนินทา ดูกรสัยหอำมาตย์ ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด.
[๕๓๙] ดูกรพราหมณ์ เราติเตียนการได้ยศ การได้ทรัพย์ และความประพฤติ เลี้ยงชีวิต ด้วยการทำตนให้ตกต่ำ หรือด้วยการประพฤติไม่เป็นธรรม.
[๕๔๐] ถึงแม้เราบวชเป็นบรรพชิต ถือภาชนะเที่ยวภิกขาจาร ความประพฤติ เลี้ยงชีวิตนั้นแหละประเสริฐกว่า การแสวงหาโดยไม่เป็นธรรมจะ ประเสริฐอะไร.
[๕๔๑] ถึงแม้เราออกบวช ถือภาชนะเที่ยวภิกขาจาร ไม่เบียดเบียนผู้อื่นในโลก นั้น ประเสริฐกว่าราชสมบัติเสียอีก.

จบ สัยหชาดกที่ ๑๐.

จบ กาลิงควรรคที่ ๑. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. จุลลกาลิงคชาดก ๒. มหาอัสสาโรหชาดก ๓. เอกราชชาดก ๔. ทัททรชาดก ๕. สีลวีมังสชาดก ๖. สุชาตาชาดก ๗. ปลาสชาดก ๘. ชวสกุณชาดก ๙. ฉวชาดก ๑๐. สัยหชาดก. _________________

๒. ปุจิมันทวรรค

๑. ปุจิมันทชาดก ว่าด้วยผู้รอบคอบ


[๕๔๒] แน่ะโจร ลุกขึ้นเถิด จะมัวนอนอยู่ทำไม ท่านต้องการอะไร ด้วยการ นอน ราชบุรุษอย่าจับท่านผู้ทำโจรกรรมอันหยาบช้าทารุณในบ้านเลย.
[๕๔๓] ราชบุรุษทั้งหลายจ้องจับโจรผู้ทำโจรกรรมอันหยาบช้าทารุณในบ้าน ใน เรื่องนั้น ธุระอะไรของปุจิมันทเทวดาผู้เกิดอยู่ในป่าเล่า?
[๕๔๔] ดูกรอัสสัตถเทวดา ท่านไม่รู้เหตุที่จะอยู่ร่วมกันไม่ได้ระหว่างเรากับโจร ราชบุรุษทั้งหลาย จับโจรผู้ทำโจรกรรมอันหยาบช้าทารุณในบ้านได้แล้ว จะเสียบโจรไว้บนหลาวไม้สะเดา ใจของเรารังเกียจในเรื่องนั้น.
[๕๔๕] บัณฑิตพึงรังเกียจสิ่งที่ควรรังเกียจ พึงป้องกันภัยที่ยังไม่มาถึงตัว พิจารณา ดูโลกทั้ง ๒ เพราะภัยในอนาคต.

จบ ปุจิมันทชาดกที่ ๑.

๒. กัสสปมันทิยชาดก ว่าด้วยรู้ตัวว่าผิดแล้วสารภาพผิด


[๕๔๖] ข้าแต่ท่านกัสสปะ เด็กหนุ่มจะด่าแช่ง หรือจะตีก็ตาม ด้วยความเป็น เด็กหนุ่ม บัณฑิตผู้มีปัญญา ย่อมอดทนความผิดที่พวกเด็กทำแล้วทั้งหมด นั้นได้.
[๕๔๗] ถ้าแม้สัตบุรุษทั้งหลาย วิวาทกัน ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว ส่วน คนพาลทั้งหลาย ย่อมแตกกันเหมือนภาชนะดิน เขาย่อมไม่ได้ความสงบ เวรกันได้เลย.
[๕๔๘] ผู้ใด รู้โทษที่ตนล่วงแล้ว ๑ ผู้ใด รู้แสดงโทษ ๑ คนทั้งสองนั้น ย่อม พร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น ความสนิทสนมของเขา ย่อมไม่เสื่อมคลาย.
[๕๔๙] ผู้ใด เมื่อคนเหล่าอื่นล่วงเกินกัน ตนเองสามารถจะเชื่อมให้สนิทสนม ได้ ผู้นั้นแลชื่อว่า เป็นผู้ประเสริฐยิ่ง ผู้นำภาระไป ผู้ทรงธุระไว้.

จบ กัสสปมันทิยชาดกที่ ๒.

๓. ขันติวาทิชาดก โทษที่ทำร้ายพระสมณะ


[๕๕๐] ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ผู้ใด ให้ตัดมือ ตัดเท้า หู และจมูกของท่าน ท่านจงโกรธผู้นั้นเถิด อย่าได้ทำรัฐนี้ให้พินาศเสียเลย.
[๕๕๑] พระราชาพระองค์ใด รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของอาตมภาพ ขอ พระราชาพระองค์นั้น จงทรงพระชนม์ยืนนาน บัณฑิตทั้งหลาย เช่นกับ อาตมภาพ ย่อมไม่โกรธเคืองเลย.
[๕๕๒] สมณะผู้สมบูรณ์ด้วยขันติ ได้มีมาในอดีตกาลแล้ว พระเจ้ากาสีรับคำ สั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของสมณะผู้ตั้งอยู่ในขันติ.
[๕๕๓] พระเจ้ากาสีหมกไหม้อยู่ในนรก ได้เสวยวิบากอันเผ็ดร้อนของกรรมที่ หยาบช้านั้น.

จบ ขันติวาทิชาดกที่ ๓.

๔. โลหกุมภิชาดก ว่าด้วยสัตว์นรกในโลหกุมภี


[๕๕๔] เมื่อโภคะทั้งหลายมีอยู่ เราทั้งหลายไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้ทำที่พึ่งให้แก่ ตน เราจึงมีชีวิตเป็นอยู่ได้แสนยาก.
[๕๕๕] เมื่อเราทั้งหลายหมกไหม้อยู่ในนรก ตลอดหกหมื่นปีบริบูรณ์ โดย ประการทั้งปวง เมื่อไรที่สุดจักปรากฏ?
[๕๕๖] ดูกรชาวเราเอ๋ย ที่สุดไม่มี ที่สุดจักมีแต่ที่ไหน ที่สุดจักไม่ปรากฏ ดูกร ท่านผู้นิรทุกข์ เพราะในกาลนั้น ทั้งเรา และท่านได้กระทำบาปกรรม ไว้แล้ว.
[๕๕๗] เราไปจากที่นี้ ได้กำเนิดมนุษย์ พอรู้จักภาษาแล้ว จักเป็นคนสมบูรณ์ไป ด้วยศีล จักทำกุศลให้มากทีเดียว.

จบ โลหกุมภิชาดกที่ ๔.

๕. มังสชาดก วาทศิลป์ของคนขอ


[๕๕๘] วาจาของท่านหยาบคายจริงหนอ ท่านเป็นผู้ขอเนื้อ วาจาของท่านเช่นกับ พังผืด ดูกรสหาย เราจะให้พังผืดแก่ท่าน.
[๕๕๙] คำว่า พี่ชาย น้องชาย หรือพี่สาว น้องสาวนี้ เป็นอวัยวะของมนุษย์ ทั้งหลาย อันเขากล่าวกันอยู่ในโลก วาจาของท่านเช่นกับอวัยวะ ดูกร สหาย เราจะให้เนื้ออวัยวะแก่ท่าน.
[๕๖๐] บุตรเรียกบิดาว่า พ่อ ย่อมทำให้หัวใจของพ่อหวั่นไหว วาจาของท่าน เช่นกับหัวใจ เราจะให้เนื้อหัวใจแก่ท่าน.
[๕๖๑] ในบ้านของผู้ใด ไม่มีเพื่อน บ้านของผู้นั้น ก็เป็นเหมือนกับป่า วาจาของ ท่านเช่นกับสมบัติทั้งมวล ดูกรสหาย เราจะให้เนื้อทั้งหมดแก่ท่าน.

จบ มังสชาดกที่ ๕.

๖. สสปัณฑิตชาดก ผู้สละชีวิตเป็นทาน


[๕๖๒] ดูกรพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีปลาตะเพียนแดงอยู่ ๗ ตัว ซึ่งนายพรานตก เบ็ดขึ้นมาจากน้ำ เอาไว้บนบก ข้าพเจ้ามีอาหารอย่างนี้ ท่านจงบริโภค อาหารนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด.
[๕๖๓] อาหารของคนรักษานาคนโน้น ข้าพเจ้านำเอามาไว้ในกลางคืน คือ เนื้อ ย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๑ ตัว และนมส้ม ๑ หม้อ ดูกรพราหมณ์ ข้าพเจ้า มีอาหารอย่างนี้ ท่านจงบริโภคอาหารนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด.
[๕๖๔] ผลมะม่วงสุก น้ำเย็น ร่มเงาอันเย็น เป็นที่รื่นรมย์ใจ ดูกรพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีอาหารอย่างนี้ ท่านจงบริโภคอาหารนี้ แล้วเจริญสมณธรรม อยู่ในป่าเถิด.
[๕๖๕] กระต่ายไม่มีงา ไม่มีถั่ว ไม่มีข้าวสาร ท่านจงบริโภคเราตัวสุกไปด้วย ไฟนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด.

จบ สสปัณฑิตชาดกที่ ๖.

๗. มตโรทนชาดก ว่าด้วยร้องไห้ถึงคนตาย


[๕๖๖] ท่านทั้งหลาย ย่อมร้องไห้ถึงแต่คนที่ตายแล้วๆ ทำไมจึงไม่ร้องไห้ถึงคนที่ จักตายบ้างเล่า สัตว์ทุกจำพวกผู้ดำรงสรีระไว้ ย่อมละทิ้งชีวิตไปโดยลำดับ.
[๕๖๗] เทวดา มนุษย์ สัตว์จตุบาท หมู่ปักษีชาติ และพวกงู ไม่มีอิสระใน สรีระร่างกายนี้ ถึงจะอภิรมย์อยู่ (ในร่างกาย) นั้น ก็ต้องละทิ้งชีวิตไป ทั้งนั้น.
[๕๖๘] สุขและทุกข์ที่เพ่งเล็งกันอยู่ในหมู่มนุษย์ เป็นของแปรผัน ไม่มั่นคง อยู่อย่างนี้ การคร่ำครวญ การร่ำไห้ ไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะเหตุไร กองโศกจึงท่วมทับท่านได้?
[๕๖๙] พวกนักเลง และพวกคอเหล้า ผู้ไม่ทำความเจริญ เป็นพาล ห้าวหาญ ไม่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญบัณฑิตว่า เป็นพาลไป.

จบ มตโรทนชาดกที่ ๗.

๘. กณเวรชาดก ว่าด้วยหญิงหลายผัว


[๕๗๐] ท่านกอดรัดนางสามาด้วยแขน ที่กอชบามีสีแดงในวสันตฤดู เธอได้สั่ง ความไม่มีโรคมาถึงท่าน.
[๕๗๑] ดูกรท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ลมพึงพัดภูเขาไป ใครๆ คงไม่เชื่อถือ ถ้า ลมจะพึงพัดเอาภูเขาไปได้ แม้แผ่นดินทั้งหมดก็พัดเอาไปได้ เพราะ เหตุไร นางสามาตายแล้วจึงสั่งความไม่มีโรคมาถึงเราได้?
[๕๗๒] นางสามานั้นยังไม่ตาย และไม่ปรารถนาชายอื่น ได้ยินว่า นางจะมีผัว เดียว ยังหวังเฉพาะท่านอยู่เท่านั้น.
[๕๗๓] นางสามาได้เปลี่ยนเราผู้ไม่เคยสนิทสนม กับสามีที่เคยสนิทสนมมานาน เปลี่ยนเราผู้ยังไม่ทันได้ร่วมรัก กับสามีผู้เคยร่วมรักมาแล้ว นางสามาพึง เปลี่ยนผู้อื่นกับเราอีก เราจักหนีจากที่นี้ไปเสียให้ไกล.

จบ กณเวรชาดกที่ ๘.

๙. ติตติรชาดก ว่าด้วยบาปเกิดจากความจงใจ


[๕๗๔] ข้าพเจ้าเป็นอยู่อย่างนี้สบายหนอ และได้บริโภคอาหารตามชอบใจ แต่ว่า ข้าพเจ้าตั้งอยู่ในระหว่างอันตรายแท้ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ คติของ ข้าพเจ้าเป็นอย่างไรหนอ?
[๕๗๕] ดูกรปักษี ถ้าใจของท่านไม่น้อมไปเพื่อกรรมอันเป็นบาป บาปย่อมไม่ แปดเปื้อนท่านผู้บริสุทธิ์ ไม่ขวนขวายกระทำบาปกรรม.
[๕๗๖] นกกระทาเป็นอันมากพากันมาด้วยคิดว่า ญาติของเราจับอยู่ นายพรานนก ย่อมได้รับกรรม เพราะอาศัยข้าพเจ้า ใจของข้าพเจ้ารังเกียจอยู่ใน เรื่องนั้น.
[๕๗๗] ถ้าใจของท่านไม่คิดประทุษร้าย กรรมที่นายพรานอาศัยท่านกระทำแล้วก็ ไม่ติดท่าน บาปย่อมไม่แปดเปื้อนท่านผู้บริสุทธิ์ มีความขวนขวายน้อย.

จบ ติตติรชาดกที่ ๙.

๑๐. สุจจชชาดก ว่าด้วยภรรยาที่ดี


[๕๗๘] พระราชา เมื่อไม่ทรงพระราชทานภูเขาด้วยพระวาจา นับว่า ไม่พระราช ทานสิ่งที่ควรให้ง่ายหนอ เมื่อพระองค์ไม่พระราชทานอะไรเลย ก็ชื่อว่า ไม่ทรงพระราชทานภูเขาด้วยพระวาจา.
[๕๗๙] คนฉลาดทำสิ่งใด ก็พูดถึงสิ่งนั้น ไม่ทำสิ่งใด ก็ไม่พูดถึงสิ่งนั้น บัณฑิต ทั้งหลาย ย่อมรู้จักคนที่ไม่ทำดีแต่พูด.
[๕๘๐] ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอนอบน้อมแด่ฝ่าพระบาท พระองค์ทรงประสบความ พินาศ แต่พระทัยของพระองค์ยังทรงยินดีอยู่ในสัจจะ พระองค์ชื่อว่า ดำรงมั่นอยู่ในสัจจธรรม.
[๕๘๑] หญิงใด เมื่อสามีขัดสนก็ขัดสนด้วย เมื่อสามีมั่งคั่งก็พลอยเป็นผู้มั่งคั่ง มีชื่อเสียงด้วย หญิงนั้นแหละ นับว่า เป็นยอดภรรยาของเขา เมื่อมีเงิน ก็ย่อมมีหญิงเป็นธรรมดา.

จบ สุจจชชาดกที่ ๑๐.

จบ ปุจิมันทวรรคที่ ๒. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. ปุจิมันทชาดก ๒. กัสสปมันทิยชาดก ๓. ขันติวาทิชาดก ๔. โลหกุมภิชาดก ๕. มังสชาดก๖. สสปัณฑิตชาดก ๗. มตโรทนชาดก ๘. กณเวรชาดก ๙. ติตติรชาดก ๑๐. สุจจชชาดก. _________________

๓. กุฏิทูสกวรรค

๑. กุฏิทูสกชาดก ว่าด้วยลิงกับนกขมิ้น


[๕๘๒] ดูกรวานร ศีรษะ มือ และเท้าของท่านเหมือนของมนุษย์ เออก็ เพราะ เหตุไรหนอ ท่านจึงไม่มีเรือนอยู่?
[๕๘๓] ดูกรนกขมิ้น ศีรษะ มือ และเท้าของเราเหมือนของมนุษย์ก็จริง แต่ ปัญญาที่บัณฑิตกล่าวว่า ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ ของเราไม่มี.
[๕๘๔] ผู้มีจิตไม่มั่นคง มีจิตกลับกลอก มักประทุษร้ายมิตร มีปกติไม่ยั่งยืน เป็นนิจ ย่อมไม่มีความสุข.
[๕๘๕] ท่านจงกระทำอานุภาพ เปลี่ยนปกติเดิมเสียเถิด ดูกรวานร ท่านจง กระทำกระท่อมไว้เป็นเครื่องป้องกันความหนาว และลมเถิด.

จบ กุฏิทูสกชาดกที่ ๑.

๒. ทุททุภายชาดก ว่าด้วยพวกกระต่ายตื่นตูม


[๕๘๖] ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศใด ประเทศนั้น ทำเสียงว่า ทุททุภะ แม้ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้เสียงลั่นนั้นตรงไหนกัน อะไร ทำให้เกิดเสียงว่า ทุททุภะ ข้าพเจ้าก็ไม่รู้อีก.
[๕๘๗] กระต่ายได้ยินผลมะตูมสุกหล่นมีเสียงว่า ทุททุภะ ก็วิ่งหนีไป หมู่เนื้อ ได้ฟังถ้อยคำของกระต่ายแล้ว พากันตกใจวิ่งหนีไปด้วย.
[๕๘๘] ชนเหล่าใด มักเชื่อตามเสียงคนอื่น ยังไม่ทันได้ถึงร่องรอยแห่งวิญญาณ เลย ชนเหล่านั้นนับว่า เป็นพาล มีความประมาทเป็นอย่างยิ่ง ดีแต่เชื่อ ผู้อื่น.
[๕๘๙] ส่วนชนเหล่าใด สมบูรณ์ด้วยศีล ด้วยปัญญา ยินดีในความสงบ ชน เหล่านั้นนับว่า เป็นบัณฑิต งดเว้นความชั่วห่างไกล ย่อมไม่เชื่อ คนอื่นเลย.

จบ ทุททุภายชาดกที่ ๒.

๓. พรหมทัตตชาดก ว่าด้วยผู้ขอกับผู้ถูกขอ


[๕๙๐] ดูกรมหาบพิตร ผู้ขอย่อมได้ ๒ อย่าง คือ ได้ทรัพย์ หรือไม่ได้ทรัพย์ แท้จริง การขอมีอย่างนี้เป็นธรรมดา.
[๕๙๑] ดูกรมหาบพิตร ผู้เป็นใหญ่ในปัญจาลรัฐ บัณฑิตกล่าวถึงการขอว่า เป็น การร้องไห้ ผู้ใด ปฏิเสธคำขอ บัณฑิตกล่าวคำปฏิเสธของผู้นั้นว่า เป็น การร้องไห้ตอบ.
[๕๙๒] ชาวปัญจาลรัฐ ผู้มาประชุมกันแล้ว อย่าได้เห็นอาตมภาพผู้กำลังร้องไห้อยู่ หรืออย่าได้เห็นพระองค์ผู้ทรงกรรแสงตอบอยู่ เพราะเหตุนั้น อาตมภาพ จึงปรารถนาขอเฝ้าในที่ลับ.
[๕๙๓] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าขอถวายวัวแดงหนึ่งพันพร้อมด้วยวัวจ่าฝูง แก่ท่าน อันอารยชนได้ฟังคาถาอันประกอบด้วยเหตุผลของท่านแล้ว ทำไมจะไม่พึงให้แก่ท่านผู้เป็นอารยชนเล่า.

จบ พรหมทัตตชาดกที่ ๓.

๔. จัมมสาฏกชาดก อย่าไว้ใจสัตว์หน้าขน


[๕๙๔] แพะตัวนี้เป็นสัตว์ที่มีท่าทางงดงามดี เป็นที่เจริญใจ และมีศีล น่ารักใคร่ ย่อมเคารพนบนอบพราหมณ์ ผู้สมบูรณ์ด้วยชาติและมนต์ทั้งหลาย นับ ได้ว่า เป็นแพะประเสริฐ มียศศักดิ์.
[๕๙๕] ดูกรพราหมณ์ ท่านอย่าได้ไว้วางใจแก่สัตว์ ๔ เท้า เพียงได้เห็นมันครู่ เดียว มันต้องการจะชนให้ถนัด จึงย่อตัวลงจักชนให้ถนัดถนี่.
[๕๙๖] กระดูกขาของพราหมณ์ก็หัก บริขารที่หาบอยู่ก็พลัดตก สิ่งของก็แตก ทำลายหมด พราหมณ์ประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญอยู่ว่า โธ่เอ๋ย แพะ มาฆ่าพรหมจารีได้.
[๕๙๗] ผู้ใด สรรเสริฐบูชาคนที่ไม่ควรบูชา ผู้นั้น จะต้องถูกเขาห้ำหั่นนอนอยู่ เหมือนกับเราผู้มีปัญญาทรามถูกแพะชนเอาในวันนี้.

จบ จัมมสาฏกชาดกที่ ๔.

๕. โคธชาดก ว่าด้วยเหี้ยกับฤาษีปลอม


[๕๙๘] เราสำคัญว่าท่านเป็นสมณะ จึงได้เข้ามาหาท่านผู้ไม่สำรวม ท่านได้ขว้าง เราด้วยท่อนไม้ เหมือนไม่ใช่สมณะ.
[๕๙๙] แน่ะท่านผู้โง่เขลา ประโยชน์อะไรด้วยชฎาแก่ท่าน ประโยชน์อะไรด้วย หนังเสือแก่ท่าน ภายในของท่านรุงรัง เกลี้ยงเกลาแต่ภายนอก.
[๖๐๐] แน่ะเหี้ย ท่านจงกลับมาบริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลีก่อนเถิด น้ำมัน เกลือ และดีปลีของเราก็มีมาก.
[๖๐๑] เราจะเข้าไปสู่จอมปลวก อันลึก ชั่วร้อยบุรุษ ยิ่งขึ้นดีกว่า น้ำมัน และ เกลือของท่านจะเป็นประโยชน์อะไร ดีปลีก็หาเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ เราไม่.

จบ โคธชาดกที่ ๕.

๖. กักการุชาดก ว่าด้วยผู้ควรประดับดอกฟักทิพย์


[๖๐๒] ผู้ใด ไม่ลักสิ่งของด้วยกาย ไม่พูดเท็จด้วยวาจา ได้รับยศแล้วไม่พึง มัวเมา ผู้นั้นแล ย่อมควรจะประดับดอกฟักทิพย์.
[๖๐๓] ผู้ใด แสวงหาทรัพย์มาได้โดยชอบธรรม ไม่ล่อลวงเอาทรัพย์เขามา ได้ โภคทรัพย์แล้วก็ไม่มัวเมา ผู้นั้นแล ย่อมควรจะประดับดอกฟักทิพย์.
[๖๐๔] ผู้ใด มีจิตไม่จืดจางเร็ว และมีศรัทธาไม่คลายง่ายๆ ไม่บริโภคของดีๆ แต่ผู้เดียว ผู้นั้นแล ย่อมควรจะประดับดอกฟักทิพย์.
[๖๐๕] ผู้ใด ไม่บริภาษสัตบุรุษ ทั้งต่อหน้า หรือลับหลัง พูดอย่างใด ทำอย่าง นั้น ผู้นั้นแล ย่อมควรจะประดับดอกฟักทิพย์.

จบ กักการุชาดกที่ ๖.

๗. กากาติชาดก ว่าด้วยนางกากี


[๖๐๖] หญิงคนรักของเราอยู่ ณ ที่แห่งใด กลิ่นของนางยังหอมฟุ้งมาจากที่แห่ง นั้นถึงที่นี่ ใจของเรายินดีในนางคนใด นางคนนั้น ชื่อกากาติ อยู่ไกล จากที่นี้ไป.
[๖๐๗] ท่านข้ามทะเลไปได้อย่างไร ท่านข้ามแม่น้ำชื่อเกปุกะไปได้อย่างไร ท่าน ข้ามสมุทรทั้ง ๗ ไปได้อย่างไร ท่านขึ้นต้นงิ้วได้อย่างไร?
[๖๐๘] เราข้ามทะเลไปกับท่าน ข้ามแม่น้ำชื่อเกปุกะไปกับท่าน ข้ามสมุทรทั้ง ๗ ไปกับท่าน ขึ้นต้นงิ้วไปกับท่าน.
[๖๐๙] น่าติเตียนตัวเราผู้มีกายใหญ่โต น่าติเตียนตัวเราผู้มีความสำนึกตัว เพราะ ว่า เราต้องนำมาบ้าง นำไปบ้าง ซึ่งชู้ของเมียตนเอง.

จบ กากาติชาดกที่ ๗.

๘. อนนุโสจิยชาดก ทุกคนจะต้องตายควรเมตตากัน


[๖๑๐] นางสัมมิลลหาสินีผู้เจริญ ได้ไปอยู่ในระหว่างพวกสัตว์ที่ตายไปแล้ว เป็นจำนวนมาก เมื่อนางไปอยู่กับสัตว์เหล่านั้น จักชื่อว่า ได้เป็นอะไร กับเรา เพราะฉะนั้น เราจึงมิได้เศร้าโศกถึงนางสัมมิลลหาสินีที่รักนี้.
[๖๑๑] ถ้าบุคคลจะพึงเศร้าโศก ถึงความตายอันจะไม่เกิดมีแก่สัตว์ ผู้เศร้าโศก นั้น ก็ควรจะเศร้าโศกถึงตนซึ่งจะต้องตกไปสู่อำนาจของมัจจุราชทุกเมื่อ.
[๖๑๒] สัตว์ที่ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่ อายุสังขารหาได้เป็นไปตามด้วยไม่ วัยย่อมเสื่อมไปทุกขณะที่หลับตาและลืมตา.
[๖๑๓] เพราะวัยเสื่อมไปอย่างนั้นหนอ อัตภาพย่อมบกพร่อง หนทางที่คนเดิน เมื่อต้องมีความพลัดพรากจากกันโดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลือ อยู่ ควรมีเมตตาเอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้ว ไม่ควรจะต้องเศร้าโศกถึง.

จบ อนนุโสจิยชาดกที่ ๘.

๙. กาฬพาหุชาดก ว่าด้วยลิงหลอกเจ้า


[๖๑๔] ในกาลก่อน เราได้ข้าวและน้ำอันใด จากสำนักพระราชา มาบัดนี้ ข้าว และน้ำนั้น มาขึ้นอยู่กับสาขมฤคหมด ดูกรพี่ราธะ บัดนี้ เราเป็นผู้อัน พระเจ้าธนญชัยไม่สักการะแล้ว พากันกลับไปป่าตามเดิมเถิด.
[๖๑๕] ดูกรน้องโปฏฐปาทะ ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ความเสื่อม ลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์ เป็น ของไม่เที่ยง เจ้าอย่าเศร้าโศกเสียใจไปเลย จะเศร้าโศกเสียใจไปทำไม?
[๖๑๖] ดูกรพี่ราธะ คุณพี่เป็นบัณฑิตแท้ ย่อมรู้ถึงผลประโยชน์ทั้งหลายที่ยังไม่ มาถึง ทำอย่างไรหนอ เราจะได้เห็นสาขมฤคผู้ลามก ถูกเขาขับไล่ออก จากราชสกุล.
[๖๑๗] ลิงกาฬพาหุ กระดิกหู และกลอกหน้ากลอกตา ทำให้พระราชกุมารทรง หวาดเสียวพระทัยอยู่เสมอๆ มันจะทำตัวของมันเองให้จำต้องห่างไกล จากข้าวและน้ำ.

จบ กาฬพาหุชาดกที่ ๙.

๑๐. สีลวีมังสชาดก ว่าด้วยธรรมที่นำความสุขมาให้
[๖๑๘]

ได้ยินว่า ศีลแล เป็นความงาม ศีลเป็นเยี่ยมในโลก ขอพระองค์จง ทอดพระเนตรงูใหญ่ มีพิษร้าย ย่อมไม่เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยมารู้สึกตัวว่า เป็นผู้มีศีล.
[๖๑๙] นกตะกรุมทั้งหลายในโลก พากันล้อมจิกชิ้นเนื้อที่เหยี่ยวคาบอยู่ในปาก ชั่วเวลาที่มันคาบชิ้นเนื้อนิดหน่อยอยู่เท่านั้น หาได้เบียดเบียนคนที่ไม่มี ความกังวลไม่.
[๖๒๐] ผู้ไม่มีความหวัง ย่อมหลับเป็นสุข ความหวัง ย่อมเผล็ดผลเป็นสุขได้ นางปิงคลาทาสี ได้ทำความหวังจนหมดหวังแล้ว จึงหลับเป็นสุขได้.
[๖๒๑] ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า ธรรมอันจะนำความสุขมาให้ยิ่งไปกว่าสมาธิ ย่อมไม่มี ผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมไม่เบียดเบียนทั้งคนอื่น และตนเอง.

จบ สีลวีมังสชาดกที่ ๑๐.

จบ กุฏิทูสกวรรคที่ ๓. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. กุฏิทูสกชาดก๒. ทุททุภายชาดก ๓. พรหมทัตตชาดก๔. จัมมสาฏกชาดก ๕. โคธชาดก ๖. กักการุชาดก ๗. กากาติชาดก๘. อนนุโสจิยชาดก ๙. กาฬพาหุชาดก๑๐. สีลวีมังสชาดก. _________________

๔. โกกิลวรรค

๑. โกกาลิกชาดก ว่าด้วยพูดในกาลที่ควรพูด


[๖๒๒] เมื่อยังไม่ถึงเวลาที่จะพูด ผู้ใด พูดเกินกาลไป ผู้นั้น ย่อมถูกทำร้าย ดุจลูกนกดุเหว่า ฉะนั้น.
[๖๒๓] มีดที่ลับคมดีแล้ว ดุจยาพิษอันร้ายแรง หาทำให้ตกไปทันทีทันใด เหมือน วาจาทุพภาษิตไม่.
[๖๒๔] เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรรักษาวาจาไว้ ทั้งในกาลควรพูด และไม่ควร ไม่ควรพูดให้ล่วงเวลา แม้ในบุคคลผู้เสมอกับตน.
[๖๒๕] ผู้ใด มีความคิดเห็นเป็นเบื้องหน้า มีปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นประจักษ์ พูดพอเหมาะในกาลที่ควรพูด ผู้นั้น ย่อมจับศัตรูได้ทั้งหมด ดุจครุฑจับ นาคได้ ฉะนั้น.

จบ โกกาลิกชาดกที่ ๑.

๒. รถลัฏฐิชาดก ว่าด้วยใคร่ครวญก่อนแล้วทำ


[๖๒๖] ข้าแต่พระราชา บุคคลทำร้ายตนเอง กลับกล่าวหาว่า คนอื่นทำร้าย ดังนี้ ก็มีโกงเขาแล้ว กลับกล่าวหาว่า เขาโกง ดังนี้ก็มี ไม่ควรเชื่อคำของ โจทก์ฝ่ายเดียว.
[๖๒๗] เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นเชื้อชาติบัณฑิต ควรฟังคำแม้ของฝ่ายจำเลย เมื่อฟังคำของโจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่ายแล้ว พึงปฏิบัติตามธรรม.
[๖๒๘] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามคุณ เกียจคร้าน ไม่ดี บรรพชิตผู้ไม่สำรวม ไม่งาม พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไป ไม่งาม บัณฑิตมีความ โกรธเป็นเจ้าเรือน ก็ไม่งาม.
[๖๒๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ พระมหากษัตริย์ทรงใคร่ครวญเสียก่อน แล้วจึงปฏิบัติ ไม่ทรงใคร่ครวญเสียก่อน ไม่ควรปฏิบัติ อิสริยยศ บริวารยศ และเกียรติคุณของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงใคร่ครวญแล้วจึงทรง ปฏิบัติ ย่อมมีแต่เจริญขึ้น.

จบ รถลัฏฐิชาดกที่ ๒.

๓. โคธชาดก เขารักก็รักมั่ง เขาชังก็ชังตอบ


[๖๓๐] หม่อมฉันทราบว่า พระองค์ผู้ทรงดำรงรัฐจะไม่ทรงอาลัยใยดีต่อหม่อมฉัน ตั้งแต่ครั้งเมื่อพระองค์ทรงพระภูษาเปลือกไม้ เหน็บพระแสงขรรค์ ทรง ผูกสอดเครื่องครบ ประทับอยู่กลางป่า เหี้ยย่างได้หนีไปจากกิ่งไม้ อัสสัตถะแล้ว.
[๖๓๑] พึงอ่อนน้อมต่อผู้ที่อ่อนน้อม พึงคบผู้ที่เขาพอใจจะคบด้วย พึงทำกิจแก่ผู้ที่ ช่วยทำกิจ ไม่พึงทำความเจริญให้แก่ผู้ที่ใคร่ความเสื่อม อนึ่ง ไม่พึงคบ หาสมาคมกับผู้ที่เขาไม่พอใจจะคบหาสมาคมด้วย.
[๖๓๒] พึงละทิ้งผู้ที่เขาละทิ้ง ไม่พึงทำความสิเนหาในผู้เลิกลากัน ไม่พึงสมาคม กับผู้มีจิตคิดออกห่าง นกรู้ว่า ต้นไม้มีผลหมดแล้ว ย่อมบินไปสู่ต้นอื่นที่ เต็มไปด้วยผล ฉันใด คนก็ฉันนั้น รู้ว่า เขาหมดความอาลัยแล้ว ก็ควร จะเลือกหาคนอื่นที่เขาผู้สมัครรักใคร่ เพราะว่า โลกใหญ่พอ.
[๖๓๓] ฉันเป็นกษัตริย์มุ่งความกตัญญู จะทำตอบแทนแก่เธอตามสติกำลัง อนึ่ง ฉันจะมอบอำนาจให้แก่เธอทั้งหมด เธอต้องการสิ่งใด ฉันจะให้สิ่งนั้น แก่เธอ.

จบ โคธชาดกที่ ๓.

๔. ราโชวาทชาดก ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้นำ


[๖๓๔] ถ้าเมื่อโคทั้งหลาย ว่ายข้ามแม่น้ำไป โคหัวหน้าฝูงว่ายคด เมื่อโคผู้นำ ฝูงว่ายคดอย่างนี้ โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายคดไปตามกัน.
[๖๓๕] ในมนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ผู้ใด ได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้น ประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ประพฤติไม่เป็นธรรม โดยแท้ ถ้าพระราชาผู้เป็นใหญ่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม รัฐก็ย่อมอยู่ไม่เป็นสุข ทั่วกัน.
[๖๓๖] ถ้าเมื่อโคทั้งหลาย ว่ายข้ามแม่น้ำไป โคหัวหน้าฝูงว่ายข้ามตรง เมื่อมีโค ผู้นำฝูงว่ายข้ามตรงอย่างนั้น โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายข้ามตรงไปตามกัน.
[๖๓๗] ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ผู้ใด ได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้น ประพฤติเป็นธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ย่อมประพฤติเป็นธรรมไป ตามโดยแท้ ถ้าพระราชา ผู้เป็นใหญ่ตั้งอยู่ในธรรม รัฐก็ย่อมอยู่เป็นสุขทั่วกัน.

จบ ราโชวาทชาดกที่ ๔.

๕. ชัมพุกชาดก ว่าด้วยโทษที่ไม่รู้ประมาณตน


[๖๓๘] ดูกรสุนัขจิ้งจอก ช้างนั้น ตัวใหญ่ ร่างกายสูง งาก็ยาว ตัวท่านไม่ได้เกิด ในตระกูลสัตว์ที่จะจับมันได้.
[๖๓๙] ผู้ใด มิใช่ราชสีห์ ยกตนเพราะสำคัญว่า เป็นราชสีห์ ผู้นั้น ย่อมเป็น เหมือนสุนัขจิ้งจอกถูกช้างเหยียบ นอนหายใจแขม่วๆ อยู่บนแผ่นดิน.
[๖๔๐] ผู้ใด ไม่รู้จักกำลังกาย กำลังความคิด และชาติของผู้มียศ เป็นชนชั้นสูง มีข้อลำล่ำสันกำลังมาก ผู้นั้น ย่อมเป็นเหมือนสุนัขจิ้งจอกถูกช้างเหยียบ นอนตายอยู่นี้.
[๖๔๑] ส่วนผู้ใด ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำการงาน รู้จักกำลังกาย และกำลัง ความคิดของตน กำหนดด้วยคำพูดอันประกอบด้วยปัญญา เป็นวาจา สุภาษิต ผู้นั้น ย่อมมีชัยอย่างไพบูลย์.

จบ ชัมพุกชาดกที่ ๕.

๖. พรหาฉัตตชาดก เอาของน้อยแลกของมาก


[๖๔๒] พระองค์ตรัสเพ้ออยู่ว่า หญ้าๆ ใครหนอ นำเอาหญ้ามาถวายพระองค์ พระองค์มีกิจด้วยหญ้าหรือหนอ พระองค์จึงตรัสถึงแต่หญ้าเท่านั้น?
[๖๔๓] ฉัตตฤาษีผู้มีร่างกายสูงใหญ่ เป็นพรหมจารี เป็นพหูสูต มาอยู่ ณ ที่นี้ เขาลักเอาทรัพย์ของเราจนหมดสิ้นแล้ว ยังใส่หญ้าไว้ในตุ่มแล้วหนีไป.
[๖๔๔] การถือเอาทรัพย์ของตนไปหมด และการไม่ถือเอาหญ้า เป็นกิจที่ผู้ ปรารถนาของน้อยแลกเอาของมาก พึงกระทำอย่างนั้น ฉัตตฤาษีใส่หญ้า ไว้ในตุ่มหนีไปแล้ว การปริเวทนาเพราะเรื่องนั้น จะมีประโยชน์อะไร.
[๖๔๕] ผู้มีศีลทั้งหลาย ย่อมไม่ทำอย่างนั้น คนพาล ย่อมกระทำอนาจารอย่างนี้ ความเป็นบัณฑิตจักทำคนทุศีล มีศีลไม่ยั่งยืน ให้เป็นคนอย่างไร?

จบ พรหาฉัตตชาดกที่ ๖.

๗. ปีฐชาดก ว่าด้วยธรรมในสกุล


[๖๔๖] เราทั้งหลายไม่ได้ให้ตั่ง น้ำดื่ม และโภชนาหารแก่ท่าน ขอท่านผู้เป็น พรหมจารี จงอดโทษให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นโทษนี้.
[๖๔๗] อาตมภาพไม่ได้ข้องเกี่ยว และไม่ได้นึกโกรธเคืองเลย แม้ความไม่ชอบใจ อะไรๆ ของอาตมภาพก็ไม่มีเลย แท้ที่จริง อาตมภาพยังมีความวิตกอยู่ใน ใจว่า ธรรมของสกุลนี้ จักเป็นเช่นนี้แน่.
[๖๔๘] ที่นั่ง น้ำล้างเท้า น้ำมันทาเท้า ข้าพเจ้าให้อยู่เป็นนิจทุกอย่าง นี้เป็นธรรม ในสกุล เนื่องมาจาก ปู่ ย่า ตา ยาย ของข้าพเจ้าทุกเมื่อ.
[๖๔๙] ข้าพเจ้าบำรุงสมณพราหมณ์โดยเคารพดุจญาติที่สูงสุด นี้เป็นธรรมในสกุล เนื่องมาจากปู่ ย่า ตา ยาย ของข้าพเจ้าทุกเมื่อ.

จบ ปีฐชาดกที่ ๗.

๘. ถุสชาดก ว่าด้วยรู้จักแกลบหรือข้าวสารในที่มืด


[๖๕๐] แกลบปรากฏโดยความเป็นแกลบแก่หนูทั้งหลาย และข้าวสารก็ปรากฏ โดยความเป็นข้าวสารแก่พวกมัน แม้ในที่มืด พวกมันเว้นแกลบเสีย เลือกกินแต่ข้าวสาร.
[๖๕๑] การปรึกษาในป่าก็ดี การพูดกระซิบกันในบ้านก็ดี และการคิดหาโอกาส ด่าเราในบัดนี้ก็ดี เรารู้หมดแล้ว.
[๖๕๒] ได้ยินว่า ลิงตัวที่เป็นพ่อมันเอาฟันกัดภาวะบุรุษของลูกผู้เกิดตามสภาพ เสียแต่ยังเยาว์ทีเดียว.
[๖๕๓] การที่เจ้าดิ้นรนอยู่เหมือนแพะตาบอดในไร่ผักกาดก็ดี นอนอยู่ภายใต้ ที่นอนก็ดี เรารู้หมดสิ้นแล้ว.
                                                                                                             จบ ถุสชาดกที่ ๘.

                                                                               ๙. พาเวรุชาดก ว่าด้วยพวกเดียรถีย์เสื่อมลาภสักการะ
[๖๕๔] เพราะยังไม่เห็นนกยูงซึ่งมีหงอน มีเสียงไพเราะ ชนทั้งหลายจึงพากัน บูชากาในที่นั้น ด้วยเนื้อ และผลไม้.
[๖๕๕] แต่เมื่อใด นกยูงตัวสมบูรณ์ไปด้วยเสียงมายังพาเวฬุรัฐ เมื่อนั้น ลาภ และสักการะของกาก็เสื่อมไป.
[๖๕๖] พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชา ส่องแสงสว่าง ยังไม่เสด็จอุบัติขึ้น เพียงใด ชนทั้งหลายก็พากันบูชาสมณพราหมณ์เหล่าอื่นอยู่เป็นอันมาก เพียงนั้น.
[๖๕๗] แต่เมื่อใด พระพุทธเจ้าผู้มีพระสุรเสียงอันไพเราะ ได้ทรงแสดงธรรม แล้ว เมื่อนั้น ลาภและสักการะของพวกเดียรถีย์ก็เสื่อมไป.

จบ พาเวรุชาดกที่ ๙.

๑๐. วิสัยหชาดก ความยากจนไม่เป็นเหตุให้ทำชั่ว


[๖๕๘] ดูกรพ่อวิสัยหะ แต่ก่อนท่านได้ให้ทาน ก็เมื่อท่านให้อยู่อย่างนั้น ความ เสื่อมได้มีแก่ท่านแล้ว ต่อแต่นี้ไป ถ้าท่านจักไม่ให้ทาน เมื่อท่านไม่ให้ ทาน โภคะทั้งหลายก็คงกลับมีอยู่ตามเดิม.
[๖๕๙] ข้าแต่ท้าวสหัสสเนตร พระอริยะทั้งหลายท่านกล่าวถึงบาปกรรมว่า อันอารย ชนถึงจะเป็นคนยากจนเข็ญใจก็ไม่ควรทำ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทวยเทพ ข้าพระบาทจะพึงเลิกศรัทธาเพราะเหตุการบริโภคทรัพย์อันใด ทรัพย์อัน นั้น อย่าได้มีเลย.
[๖๖๐] รถคันหนึ่งแล่นไปทางใด รถคันอื่นก็แล่นไปทางนั้น ข้าแต่ท้าววาสวะ วัตรที่ข้าพระบาทบำเพ็ญมาแล้วแต่ครั้งก่อน ขอจงเป็นไปเหมือนอย่างนั้น เถิด.
[๖๖๑] ถ้ายังมียังเป็นอยู่ ข้าพระบาทก็จะให้ เมื่อไม่มีไม่เป็น จะให้ได้อย่างไร แม้ถึงจะเป็นอย่างนี้แล้วก็ตาม ก็จะต้องให้ เพราะข้าพระบาทจะลืมทาน เสียไม่ได้.

จบ วิสัยหชาดกที่ ๑๐.

จบ โกกิลวรรคที่ ๔. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. โกกาลิกชาดก ๒. รถลัฏฐิชาดก ๓. โคธชาดก๔. ราโชวาทชาดก ๕. ชัมพุกชาดก ๖. พรหาฉัตตชาดก ๗. ปีฐชาดก ๘. ถุสชาดก ๙. พาเวรุชาดก ๑๐. วิสัยหชาดก. _________________

๕. จุลลกุณาลวรรค

๑. กุณฑลิกชาดก เปรียบนารีด้วยท่าน้ำ


[๖๖๒] บรรดานารีทั้งหลาย เป็นคนหลายใจ ไม่มีใครสามารถจะข่มได้ ทำความ ยั่วยวนให้แก่ชายทั้งหลาย ถ้าหากว่า นารีทั้งหลายแม้จะทำให้เกิดความ ปีติได้โดยประการทั้งปวง ก็ไม่ควรไว้วางใจ เพราะว่า นารีทั้งหลายเปรียบ ด้วยท่าน้ำ.
[๖๖๓] บัณฑิตได้พบเห็นเหตุคลายกำหนัด ของกินนรและนางกินนรีทั้งหลาย แล้ว ก็พึงรู้เสียเถิดว่า หญิงทุกคน ย่อมไม่ยินดีในเรือนของตน ภรรยา ได้ทอดทิ้งสามีผู้เช่นนั้นได้ เพราะไปพบเห็นบุรุษอื่นแม้เป็นง่อยเปลี้ย.
[๖๖๔] พระมเหสีของพระเจ้าพกะ และพระเจ้าพาวริกะ ผู้หมกมุ่นอยู่ในกาม เกินส่วน ยังประพฤติล่วงกับชาวประมงคนใช้ผู้ใกล้ชิดและอยู่ในอำนาจ หญิงจะไม่ประพฤติล่วงบุรุษอื่นนอกจากคนนั้นอีก มีอยู่หรือ?
[๖๖๕] นางปิงคิยานี พระอัครมเหสีที่รักของพระเจ้าพรหมทัตต์ผู้เป็นอิสระแห่ง มวลโลก ได้ประพฤติล่วงกับคนเลี้ยงม้าผู้เป็นคนใกล้ชิดและอยู่ในอำนาจ นางผู้ใคร่กามนั้น ไม่ได้ประสบผลแม้ทั้งสองอย่าง.

จบ กุณฑลิกชาดกที่ ๑.

๒. วานรชาดก ผู้รู้เท่าถึงเหตุการณ์เอาตัวรอดได้


[๖๖๖] ดูกรจระเข้ เราสามารถยกตนขึ้นจากน้ำสู่บกได้แล้ว บัดนี้ เราจะไม่ตกอยู่ ในอำนาจของท่านอีกต่อไป.
[๖๖๗] เราไม่ต้องการด้วยผลมะม่วง ผลหว้า และผลขนุนทั้งหลาย เราจะต้อง ข้ามฝั่งแม่น้ำไปบริโภคผลมะเดื่อของเราดีกว่า.
[๖๖๘] ผู้ใด ไม่รู้เท่าถึงเหตุการณ์ อันบังเกิดขึ้นแล้วโดยฉับพลัน ผู้นั้น จะต้อง ตกอยู่ในอำนาจของศัตรู และต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง.
[๖๖๙] ส่วนผู้ใด รู้เท่าถึงเหตุการณ์ ที่บังเกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้น ย่อมพ้น จากความคับขันอันเกิดแต่ศัตรู และไม่ต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง.

จบ วานรชาดกที่ ๒.

๓. กุนตินีชาดก ว่าด้วยการเชื่อมมิตรภาพ


[๖๗๐] หม่อมฉันได้อาศัย อยู่ในพระราชนิเวศของพระองค์ พระองค์ทรงอุปถัมภ์ บำรุงมาเป็นอย่างดีมิได้ขาด มาบัดนี้ พระองค์ผู้เดียวได้ก่อเหตุขึ้น ข้าแต่ พระราชา มิฉะนั้น หม่อมฉันจะขอทูลลาไปป่าหิมพานต์.
[๖๗๑] ผู้ใดแล เมื่อคนอื่นทำกรรมอันชั่วร้ายให้แก่ตนแล้ว และตนก็ได้ทำตอบ แทนแล้ว ย่อมรู้สึกได้ว่า เราได้ทำตอบแก่เขาแล้ว เวรของผู้นั้น ย่อม สงบไปด้วยอาการเพียงเท่านี้ ดูกรนางนกกระเรียน ท่านจงอยู่ก่อนเถิด อย่าเพิ่งไปเลย.
[๖๗๒] มิตรภาพของผู้ที่ถูกทำร้ายกับผู้ที่ทำร้าย ย่อมเชื่อมกันไม่ติดอีก ใจของ หม่อมฉันไม่ยอมให้อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันขอทูลลาไป.
[๖๗๓] มิตรภาพของผู้ที่ถูกทำร้ายกับผู้ที่ทำร้าย ย่อมกลับเชื่อมติดกันได้อีก เฉพาะพวกบัณฑิตด้วยกัน ย่อมเชื่อมกันไม่ติดอีก เฉพาะพวกชนพาล ดูกรนางนกกระเรียน ท่านจงอยู่ก่อนเถิด อย่าเพิ่งไปเลย.

จบ กุนตินีชาดกที่ ๓.

๔. อัมพชาดก ว่าด้วยหญิงขโมยมะม่วง


[๖๗๔] หญิงคนใด ลักมะม่วงทั้งหลายของท่าน หญิงคนนั้น จงตกอยู่ใต้อำนาจ ของช่างย้อมผม และผู้เดือดร้อนเพราะแหนบ.
[๖๗๕] หญิงคนใด ลักมะม่วงทั้งหลายของท่าน หญิงคนนั้น ถึงจะมีอายุตั้ง ๒๐ ปี ๒๕ ปี หรือไม่ถึง ๓๐ ปี ตั้งแต่เกิดมา อย่าได้ผัวเช่นนั้นเลย.
[๖๗๖] หญิงคนใด ลักมะม่วงทั้งหลายของท่าน หญิงคนนั้น ถึงจะกระเสือก กระสนเที่ยวหาผัว เดินไปสู่หนทางไกลแสนไกลแต่ลำพังคนเดียว ถึง จะได้นัดแนะกันไว้แล้ว ก็ขออย่าได้พบได้เห็นผัวเลย.
[๖๗๗] หญิงคนใด ลักมะม่วงทั้งหลายของท่าน หญิงคนนั้น ถึงจะมีที่อยู่สะอาด ตบแต่งร่างกายทัดทรงดอกไม้ ลูบไล้ด้วยกระแจะจันทน์ ก็จงนอนอยู่บน ที่นอนแต่เพียงคนเดียวเถิด.

จบ อัมพชาดกที่ ๔.

๕. คชกุมภชาดก ช้าๆ จะได้พร้าสองเล่มงาม


[๖๗๘] ดูกรเจ้าตัวคืบ ไฟไหม้ป่า คราวใด คราวนั้น เจ้าจะทำอย่างไร เจ้าเป็น สัตว์มีความบากบั่นอ่อนแออย่างนี้?
[๖๗๙] โพรงไม้ และระแหงแผ่นดิน มีอยู่เป็นอันมาก ถ้าพวกข้าพเจ้าไปไม่ทัน ถึงโพรงไม้ และระแหงแผ่นดินเหล่านั้น พวกข้าพเจ้าก็ต้องตาย.
[๖๘๐] ในเวลาที่จะต้องทำช้าๆ ผู้ใด รีบด่วนทำเสียเร็ว ในเวลาที่จะต้องรีบด่วน ทำกลับทำช้าไป ผู้นั้น ย่อมตัดรอนประโยชน์ของตนเอง เหมือนคน เหยียบใบตาลแห้งแหลกละเอียดไป ฉะนั้น.
[๖๘๑] ในเวลาที่จะต้องทำช้าๆ ผู้ใด ทำช้า และในเวลาที่จะต้องรีบทำด่วนก็รีบ ด่วนทำเสีย ประโยชน์ของผู้นั้น ย่อมบริบูรณ์เหมือนดวงจันทร์ส่องแสง สว่างในกลางคืน ฉะนั้น.

จบ คชกุมภชาดกที่ ๕.

๖. เกสวชาดก ความคุ้นเคยเป็นรสอันยอดเยี่ยม


[๖๘๒] เป็นอย่างไรหนอ เกสวะดาบสผู้ควรบูชาของข้าพเจ้าทั้งหลายจึงละความ เป็นพระเจ้าพาราณสีผู้เป็นจอมมนุษย์ ซึ่งสามารถให้สำเร็จประสงค์ทุก อย่างทุกประการ แล้วมายินดีอยู่ในอาศรมของกัปปดาบส?
[๖๘๓] ดูกรนารทอำมาตย์ หมู่ไม้อันน่ารื่นรมย์ใจ มีอยู่ ถ้อยคำของกัปปดาบส เป็นสุภาษิต ไพเราะ น่ารื่นรมย์ใจ ยังอาตมาให้ยินดี.
[๖๘๔] พระคุณเจ้าบริโภคข้าวสุกสาลีที่ปรุงด้วยเนื้อสะอาด ไฉนข้าวฟ่างและ ลูกเดือยอันหารสมิได้เลย จึงทำให้พระคุณเจ้ายินดีได้เล่า.
[๖๘๕] ของบริโภคจะดีหรือไม่ดีก็ตาม จะน้อยหรือมากก็ตาม บุคคลใดคุ้นเคย กันแล้ว จะพึงบริโภค ณ ที่ใด การบริโภค ณ ที่นั้นแหละดี เพราะรส ทั้งหลาย มีความคุ้นเคยกันเป็นยอดเยี่ยม.

จบ เกสวชาดกที่ ๖.

๗. อยกูฏชาดก ว่าด้วยยักษ์ถือกระบองเหล็กใหญ่


[๖๘๖] ท่านผู้ใด ยืนถือกระบองเหล็กอันใหญ่โตเหลือขนาดอยู่บนอากาศ ท่าน ผู้นั้น มาสถิตอยู่เพื่อจะคุ้มครองข้าพเจ้าในวันนี้หรือ หรือจะพยายามมา ฆ่า ข้าพเจ้า?
[๖๘๗] ดูกรพระราชา เราเป็นทูตของพวกยักษ์ ถูกพวกยักษ์เหล่านั้นส่งมา ณ ที่นี้ เพื่อจะปลงพระชนม์พระองค์ แต่ท้าวสักรินทร์เทวราชคุ้มครอง พระองค์อยู่ เพราะเหตุนั้น เราจึงผ่าพระเศียรของพระองค์ไม่ได้.
[๖๘๘] ก็ถ้าท้าวมัฆวาฬเทวราชผู้เป็นจอมทวยเทพ พระสวามีของนางสุชาดา คุ้มครองข้าพเจ้าอยู่ มิฉะนั้น พวกปีศาจก็คงคุกคามเหล่าสัตว์ทั้งหลาย เป็นแน่ ข้าพเจ้าไม่ได้สะดุ้งกลัวต่อพวกยักษ์เลย.
[๖๘๙] พวกกุมภัณฑ์ และพวกปีศาจทั้งมวญจะคร่ำครวญกันไปก็ตามเถิด พวกมันคงไม่อาจจะต่อยุทธกับข้าพเจ้า กิริยาที่หลอกหลอนของพวกยักษ์ ซึ่งทำให้น่ากลัวต่างๆ นั้น มีอยู่เป็นอันมาก แต่ข้าพเจ้าก็ไม่กลัว.

จบ อยกูฏชาดกที่ ๗.

๘. อรัญญชาดก ว่าด้วยการเลือกคบคน


[๖๙๐] คุณพ่อ ผมออกจากป่าไปสู่บ้านแล้ว จะพึงคบคนที่มีศีลอย่างไร มีวัตร อย่างไร ผมถามแล้ว ขอคุณพ่อจงบอกข้อนั้นแก่ผมด้วย?
[๖๙๑] ลูกเอ๋ย ผู้ใด พึงคุ้นเคยกะเจ้าก็ดี พึงอดทนความคุ้นเคยของเจ้าได้ก็ดี เชื่อถือคำพูดของเจ้าก็ดี งดโทษให้เจ้าก็ดี เจ้าไปจากที่นี้แล้วจงคบหาผู้นั้น เถิด.
[๖๙๒] ผู้ใด ไม่มีกรรมชั่วด้วยกาย วาจาและใจ เจ้าไปจากที่นี้แล้วจงคบหาผู้นั้น ทำตนให้เหมือนบุตรผู้เกิดจากอกของผู้นั้นเถิด.
[๖๙๓] ลูกเอ๋ย คนที่มีจิตเหมือนน้ำย้อมขมิ้น มีจิตกลับกลอก รักง่ายหน่ายเร็ว เจ้าอย่าคบหาคนเช่นนั้นเลย ถึงหากว่า พื้นชมพูทวีปทั้งหมดจะไม่มี มนุษย์ก็ตาม.

จบ อรัญญชาดกที่ ๘.

๙. สันธิเภทชาดก ว่าด้วยโทษที่เชื่อถือคำส่อเสียด


[๖๙๔] ดูกรนายสารถี สัตว์ทั้ง ๒ นี้ ไม่ได้มีความเสมอกันเพราะสตรีทั้งหลาย เลย ไม่ได้มีความเสมอกันเพราะอาหารเลย ภายหลัง เมื่อสุนัขจิ้งจอก ยุยงทำลายความสนิทสนมกันเสียจนถึงให้ตาย ท่านจงเห็นเหตุนั้นซึ่ง ฉันคิดไว้ถูกต้องแล้ว.
[๖๙๕] พวกสุนัขจิ้งจอกพากันกัดกินโค และราชสีห์ เพราะคำส่อเสียดใด คำส่อเสียดนั้น ย่อมเป็นไปถึงตัดมิตรภาพเพราะเนื้อ ดุจดาบคม ฉะนั้น.
[๖๙๖] ดูกรนายสารถี ท่านจงดูการนอนตายของสัตว์ทั้ง ๒ นี้ ผู้ใด เชื่อถือถ้อยคำของ คนส่อเสียด ผู้มุ่งทำลายความสนิทสนม ผู้นั้น จะต้องนอนตายอย่างนี้.
[๖๙๗] ดูกรนายสารถี นรชนเหล่าใด ไม่เชื่อถือถ้อยคำของคนส่อเสียด ผู้มุ่ง ทำลายความสนิทสนม นรชนเหล่านั้น ย่อมได้ประสบความสุขเหมือน คนไปสวรรค์ ฉะนั้น.

จบ สันธิเภทชาดกที่ ๙.

๑๐. เทวตาปัญหาชาดก ว่าด้วยปัญหาของเทวดา


[๖๙๘] ดูกรพระราชา บุคคลประหารผู้อื่นด้วยมือทั้ง ๒ ด้วยเท้าทั้ง ๒ แล้วเอามือ ประหารปากผู้อื่น บุคคลนั้น กลับเป็นที่รักของผู้ถูกประหาร เพราะเหตุ นั้น พระองค์ทรงเห็นผู้ที่ถูกประหารนั้นว่า ได้แก่ใคร?
[๖๙๙] ดูกรพระราชา บุคคลด่าผู้อื่นตามความพอใจ แต่ไม่ปรารถนาให้ผู้ที่ถูกด่า นั้นได้รับภัยอันตราย บุคคลนั้น กลับเป็นที่รักของผู้ด่า เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นผู้ด่านั้นว่า ได้แก่ใคร?
[๗๐๐] ดูกรพระราชา บุคคลกล่าวตู่ด้วยถ้อยคำไม่เป็นจริง และท้วงติงด้วยคำ อันเหลาะแหละ บุคคลนั้น กลับเป็นที่รักแห่งกันและกัน เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นผู้นั้นว่า ได้แก่ใคร?
[๗๐๑] ดูกรพระราชา บุคคลผู้นำเอาข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะไป (ชื่อว่าผู้นำ เอาไปมีอยู่โดยแท้) บุคคลเหล่านั้น กลับเป็นที่รักของผู้เป็นเจ้าของ เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นผู้นั้นว่า ได้แก่ใคร?

จบ เทวตาปัญหาชาดกที่ ๑๐.

( อรรถกถาเทวตาปัญหาชาดกที่ ๑๐
ข้อปุจฉาของเทวดานี้ มีคำเริ่มต้นว่า หนฺติ หตฺเถหิ ปาเทหิ
แปลว่า ประหารผู้อื่นด้วยมือและเท้า ดังนี้ จักมีแจ้งในมหาอุมังค-
ชาดกแล.
จบอรรถกถาเทวตาปัญหาชาดกที่ ๑๐)

จบ จุลลกุณาวรรคที่ ๕. __________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. กุณฑลิกชาดก ๒. วานรชาดก ๓. กุนตินีชาดก๔. อัมพชาดก ๕. คชกุมภชาดก ๖. เกสวชาดก ๗. อยกูฏชาดก๘. อรัญญชาดก ๙. สันธิเภทชาดก ๑๐. เทวตาปัญหาชาดก _________________ รวมวรรคที่มีในจตุกกนิบาตนี้ คือ ๑. กาลิงควรรค๒. ปุจิมันทวรรค ๓. กุฏิทูสกวรรค๔. โกกิลวรรค ๕. จุลลกุณาวรรค. จบ จตุกกนิบาตชาดก. _________________

กลับที่เดิม