ติกนิบาตชาดก

๑. สังกัปปวรรค

๑. สังกัปปวรรคชาดก ว่าด้วยลูกศรคือกิเลส


[๓๕๒] อาตมภาพอันลูกศรที่อาบด้วยราคะดำริ อาศัยกามวิตก อันนายช่างศร ไม่ได้ตกแต่งขัดเกลาและเหลาเสี้ยม แทงเข้าแล้ว.
[๓๕๓] อาตมภาพมิได้ถูกลูกศรที่เขายกคันขึ้นยิงมา หรือที่ติดพู่หางนกยูงเสียบ แทงเลย แต่อาตมภาพถูกลูกศร คือ กิเลสเครื่องเผาอวัยวะทั้งปวงให้ เร่าร้อน เสียบแทงที่หทัย.
[๓๕๔] แต่อาตมภาพไม่เห็นรอยแผล ไม่เห็นโลหิตไหลออกจากรอยแผลนั้น จิตที่ไม่มีอุบายอันแยบคาย ถูกลูกศรตรึงไว้แล้วอย่างมั่นคง อาตมภาพ นำความทุกข์มาให้แก่ตนเอง.

จบ สังกัปปราคชาดกที่ ๑.

๒. ติลมุฏฐิชาดก การเฆี่ยนตีเป็นการสั่งสอน


[๓๕๕] การที่ท่านให้จับแขนเราไว้แล้วเฆี่ยนตีด้วยซีกไม้ไผ่ เพราะเหตุเมล็ดงา กำมือหนึ่งนั้น ยังฝังอยู่ในใจของเราจนทุกวันนี้.
[๓๕๖] ดูกรพราหมณ์ ชะรอยท่านจะไม่ยินดีในชีวิตของตนแล้วสินะ จึงได้มา จับแขนแล้วเฆี่ยนตีเราถึง ๓ ครั้ง วันนี้ ท่านจะได้เสวยผลของกรรมนั้น.
[๓๕๗] อารยชนใด ย่อมข่มขี่คนที่ไม่ใช่อารยชน ผู้ทำกรรมชั่ว ด้วยอาชญา กรรม ของอารยชนนั้น เป็นการสั่งสอน หาใช่เป็นเวรไม่ บัณฑิตทั้งหลาย รู้ชัด ข้อนั้นอย่างนี้แล.

จบ ติลมุฏฐิชาดกที่ ๒.

๓. มณิกัณฐชาดก ว่าด้วยขอสิ่งที่ไม่ควรขอ


[๓๕๘] ข้าวและน้ำอันไพบูลย์ยิ่ง ย่อมเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า เพราะเหตุแก้วมณี ดวงนี้ ข้าพเจ้าจักให้แก้วมณีดวงนั้นแก่ท่านไม่ได้ ท่านก็ยิ่งขอหนักขึ้น ใช่แต่เท่านั้น ข้าพเจ้าจักไม่มาสู่อาศรมของท่านอีกด้วย.
[๓๕๙] ท่านขอแก้วมณีอันเกิดจากหินดวงนี้ ย่อมทำให้ข้าพเจ้าหวาดเสียว เหมือนกับชายหนุ่มมีมือถือดาบอันลับแล้วที่แผ่นหิน มาทำให้ข้าพเจ้า หวาดเสียว ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักให้แก้วมณีดวงนั้นแก่ท่านไม่ได้ ท่านก็ยิ่ง ขอหนักขึ้น ใช่แต่เท่านั้น ข้าพเจ้าจักไม่มาสู่อาศรมของท่านอีกด้วย.
[๓๖๐] บุคคลรู้ว่า สิ่งของอันใด เป็นที่รักของเขา ก็ไม่ควรขอสิ่งของอันนั้น บุคคลย่อมเป็นที่เกลียดชังเพราะขอจัด พระยานาคถูกพราหมณ์ขอ แก้วมณี ตั้งแต่นั้นก็มิได้มาให้พราหมณ์นั้นเห็นอีกเลย.

จบ มณิกัณฐชาดกที่ ๓.

๔. กุณฑกกุจฉิสินธวชาดก รู้ว่าเขาดีก็ต้องเลี้ยงให้สมดี


[๓๖๑] ท่านเคยบริโภคหญ้าที่เป็นเดน เคยบริโภครำและข้าวตังมาแล้วจนเติบโต นี่เคยเป็นอาหารของท่านมาแล้ว เพราะเหตุไร บัดนี้ ท่านจึงไม่บริโภค เล่า?
[๓๖๒] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ในที่ใด ชนทั้งหลายไม่รู้จักสัตว์ โดยชาติ หรือโดย วินัย ในที่นั้น รำ และข้าวตังมีเป็นอันมาก.
[๓๖๓] ก็ท่านรู้จักข้าพเจ้าดีแล้วว่า ม้าตัวนี้ เป็นม้าอุดมเช่นไร ข้าพเจ้ารู้สึกตน อยู่ เพราะอาศัยท่านผู้รู้ จึงไม่บริโภครำของท่าน.

จบ กุณฑกกุจฉิสินธวชาดกที่ ๔.

๕. สุกชาดก โทษของการไม่รู้ประมาณ


[๓๖๔] ลูกนกแขกเต้าตัวนั้น รู้ประมาณในการบริโภคอยู่เพียงใด ก็ได้สืบอายุ และได้เลี้ยงมารดาบิดาอยู่เพียงนั้น.
[๓๖๕] อนึ่ง ในกาลใด ลูกนกแขกเต้านั้น กลืนกินโภชนะมากเกินไป ในกาล นั้น ก็ได้ชื่อว่า ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค จึงได้จมลงในมหาสมุทร นั้นเทียว.
[๓๖๖] เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ ความไม่หลงติดอยู่ใน โภชนะ เป็นความดี ด้วยว่า บุคคลใด ไม่รู้จักประมาณ ย่อมจมลงใน อบายทั้ง ๔ บุคคลผู้รู้จักประมาณแล ย่อมไม่จมลงในอบาย ๔.

จบ สุกชาดกที่ ๕.

๖. ชรูทปานชาดก ขุดบ่อได้ทรัพย์กลับพินาศเพราะขุดเกิน


[๓๖๗] พ่อค้าทั้งหลาย มีความต้องการด้วยน้ำ พากันขุดบ่อน้ำเก่า ได้แร่เหล็ก แร่ทองแดง ดีบุก ตะกั่ว แก้วมณี เงิน ทอง แก้วมุกดา และแก้ว ไพฑูรย์ เป็นอันมาก.
[๓๖๘] แต่พวกพ่อค้าเหล่านั้น ก็ไม่ได้ยินดีด้วยทรัพย์นั้น ได้พากันขุดให้ลึก ยิ่งขึ้นๆ ในบ่อน้ำนั้น มีพระยานาคมีพิษร้ายแรง มีเดช ได้ฆ่าพวกพ่อค้า เหล่านั้นเสียด้วยเดชแห่งพิษ.
[๓๖๙] เพราะฉะนั้น บุคคลพึงขุดบ่อน้ำเถิด แต่ไม่ควรขุดให้ลึกเกินไป เพราะ ว่า บ่อที่ขุดลึกเกินไปเป็นของลามก ทรัพย์ที่พวกพ่อค้าได้แล้วด้วยการ ขุด และชีวิตก็พินาศไป เพราะการที่ขุดลึกเกินไป.

จบ ชรูทปานชาดกที่ ๖.

๗. คามณิจันทชาดก ลิงเป็นสัตว์ไม่รู้จักเหตุ


[๓๗๐] สัตว์ตัวนี้ ไม่ฉลาดที่จะทำเรือน มีปกติหลุกหลิก หนังที่หน้าย่น พึง ประทุษร้ายของที่เขาทำไว้แล้ว ตระกูลสัตว์นี้ มีอย่างนั้นเป็นธรรมดา.
[๓๗๑] ขนอย่างนี้ ไม่ใช่ขนของสัตว์ที่มีความคิดฉลาด ลิงตัวนี้จะทำให้ผู้อื่น ยินดีไม่ได้ พระราชบิดาของเราทรงพระนามว่า ชนสันธนะ ได้ตรัส สอนไว้ว่า ธรรมดาลิงย่อมไม่รู้จักเหตุอันใดอันหนึ่ง.
[๓๗๒] สัตว์เช่นนั้น จะพึงเลี้ยงดูมารดาบิดา หรือพี่ชายพี่สาวของตนไม่ได้เลย คำสอนนี้ พระราชบิดาของเราได้ทรงสั่งสอนไว้อย่างนี้.

จบ คามณิจันทชาดกที่ ๗.

๘. มันธาตุราชชาดก กามมีความสุขน้อยมีทุกข์มาก


[๓๗๓] พระจันทร์ พระอาทิตย์ (ย่อมเวียนรอบเขาสิเนรุราช) ส่องรัศมีสว่างไสว ไปทั่วทิศโดยกำหนดที่เท่าใด สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยแผ่นดินอยู่ในที่มี กำหนดเท่านั้น ล้วนเป็นทาสของพระเจ้ามันธาตุราชทั้งสิ้น.
[๓๗๔] ความอิ่มในกามทั้งหลาย ย่อมไม่มีด้วยฝนคือกหาปณะ กามทั้งหลายมี ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก บัณฑิตรู้ชัดอย่างนี้.
[๓๗๕] พระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่ปรารถนาความยินดีในกาม ทั้งหลายที่เป็นทิพย์ เป็นผู้ยินดีแต่ความสิ้นไปแห่งตัณหาโดยแท้.

จบ มันธาตุราชชาดกที่ ๘.

๙. ติรีติวัจฉชาดก ควรบูชาผู้มีพระคุณ


[๓๗๖] กรรมอะไรๆ ที่สำเร็จด้วยวิชาของดาบสนี้มิได้มีเลย อนึ่ง ดาบสนั้น ไม่ใช่พระญาติพระวงศ์ ไม่ใช่พระสหายของพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ติรีติวัจฉดาบสผู้มีมือถือไม้เท้า จึงบริโภคก้อนข้าวอันเลิศ?
[๓๗๗] เมื่อเรารบพ่ายแพ้โจร ตกอยู่ในฐานะอันตราย ติรีติวัจฉดาบสผู้นี้ ได้กระทำความอนุเคราะห์แก่เราผู้เดียว ในป่าที่ไม่มีน้ำ น่าหวาดเสียว เมื่อเราได้รับความลำบากก็ได้พาดพะองให้ เพราะเหตุนั้น เราแม้ถูก ความทุกข์เบียดเบียนแล้วก็ขึ้นจากบ่อได้.
[๓๗๘] เรามาถึงเมืองนี้ได้โดยความยาก เพราะอานุภาพของติรีติวัจฉดาบสผู้นี้ เราถึงจะเป็นอยู่ในมนุษยโลก ก็เหมือนกับไปปรโลกอันเป็นวิสัยของ มัจจุราช ลูกรัก ติรีติวัจฉดาบส เป็นผู้ควรแก่ปัจจัยลาภ ท่านทั้งหลาย จงพากันถวายของควรบริโภค และของควรบูชาแก่ท่านติรีติวัจฉดาบส เถิด.

จบ ติรีติวัจฉชาดกที่ ๙.

๑๐. ทูตชาดก ทุกชีวิตเป็นทูตของท้อง


[๓๗๙] สัตว์เหล่านี้ เป็นไปในอำนาจของตัณหา ย่อมไปสู่ประเทศอันไกล หวัง จะขอสิ่งของตามแต่จะได้ เพื่อประโยชน์แก่ท้องใด ข้าพระองค์เป็น ทูตของท้องนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ขอพระองค์อย่าได้ทรง พิโรธแก่ข้าพระองค์เลย.
[๓๘๐] อนึ่ง มาณพทั้งหลาย ย่อมตกอยู่ในอำนาจของท้องใด ทั้งกลางวัน และกลางคืน ข้าพระองค์ก็เป็นทูตของท้องนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็น จอมทัพ ขอพระองค์อย่าได้ทรงพิโรธแก่ข้าพระองค์เลย.
[๓๘๑] ดูกรพราหมณ์ เราจะให้โคสีแดงแก่ท่านสักพันตัวพร้อมทั้งโคจ่าฝูงแก่ท่าน แม้เราและสัตว์ทั้งมวลก็ชื่อว่า เป็นทูตของท้องทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เราก็เป็นทูต ไฉนจะไม่ให้สิ่งของแก่ท่านผู้เป็นทูตเล่า.

จบ ทูตชาดกที่ ๑๐.

จบ สังกัปปวรรคที่ ๑. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. สังกัปปราคชาดก ๒. ติลมุฏฐิชาดก ๓. มณิกัณฐชาดก ๔. กุณฑกกุจฉสินธวชาดก ๕. สุกชาดก ๖. ชรูทปานชาดก ๗. คามณิจันทชาดก ๘. มันธาตุราชชาดก ๙. ติรีติวัจฉชาดก ๑๐. ทูตชาดก. _________________

๒. ปทุมวรรค

๑. ปทุมชาดก ไม่ควรพูดให้เกินความจริง


[๓๘๒] ผมและหนวดที่โกนแล้ว ตัดแล้ว ย่อมงอกขึ้นใหม่ได้ ฉันใด จมูกของ ท่านจงงอกขึ้นใหม่ ฉันนั้น ข้าพเจ้าขอดอกปทุม ขอท่านจงให้แก่ ข้าพเจ้าเถิด.
[๓๘๓] พืชที่เก็บไว้ในสารทสมัย เอาหว่านลงในนา ย่อมงอกขึ้น ฉันใด จมูก ของท่านจงงอกขึ้นใหม่ ฉันนั้น ข้าพเจ้าขอดอกปทุม ขอท่านจงให้แก่ ข้าพเจ้าเถิด.
[๓๘๔] แม้คนทั้งสองนั้นคิดว่า ท่านจักให้ดอกปทุมแก่ตน จึงได้พูดพล่ามไป คนทั้งสองนั้นจะพึงกล่าว หรือไม่กล่าวก็ตาม จมูกย่อมงอกขึ้นไม่ได้ ดูกรสหาย ข้าพเจ้าขอดอกปทุม ขอท่านจงให้แก่ข้าพเจ้าเถิด.

จบ ปทุมชาดกที่ ๑.

๒. มุทุปาณิชาดก ความปรารถนาสมประสงค์ในกาลมีของ ๔ อย่าง
[๓๘๕] ถ้าคนใช้ของท่านพึงมีฝ่ามืออ่อน ๑ ช้างของท่านฝึกดีแล้ว ๑ เวลามืด ๑ ฝนตก ๑ จะพึงมี ในกาลใด ความปรารถนาของท่านก็จะสมประสงค์ ในกาลนั้นเป็นแน่.
[๓๘๖] หญิงทั้งหลาย บุรุษไม่สามารถจะปกปักรักษาไว้ได้ด้วยถ้อยคำอันอ่อน หวาน ยากที่จะให้เต็มได้ เสมอด้วยแม่น้ำ ฉะนั้น ย่อมจะจมลงใน นรก บัณฑิตรู้ชัดอย่างนี้แล้ว พึงหลีกเว้นเสียให้ห่างไกล.
[๓๘๗] หญิงเหล่านั้น ย่อมเข้าไปคบหาบุรุษใด เพราะความรักใคร่ พอใจ หรือ เพราะทรัพย์ เขาย่อมเผาบุรุษนั้นเสียฉับพลัน เปรียบเหมือนไฟไหม้ที่ ของตนเอง ฉะนั้น.

จบ มุทุปาณิชาดกที่ ๒.

๓. จุลลปโลภนชาดก ว่าด้วยหญิงทำบุรุษให้งงงวย


[๓๘๘] เมื่อน้ำไม่หวั่นไหว ดาบสนี้มาได้ด้วยฤทธิ์เอง ครั้นถึงความระคนกับ ด้วยหญิง ก็จมลงในห้วงมหรรณพ.
[๓๘๙] ธรรมดาว่า หญิงเหล่านี้ เป็นผู้ยังบุรุษให้งงงวย มีมายามาก และยัง พรหมจรรย์ให้กำเริบ ย่อมจะจมลงในอบาย บัณฑิตรู้ชัดอย่างนี้แล้ว พึงหลีกเว้นเสียให้ห่างไกล.
[๓๙๐] หญิงเหล่านั้น ย่อมเข้าไปคบหาบุรุษใด เพราะความรักใคร่ พอใจ หรือ เพราะทรัพย์ เขาย่อมเผาบุรุษนั้นเสียฉับพลัน เปรียบเหมือนไฟไหม้ที่ ของตนเองฉะนั้น.

จบ จุลลปโลภนชาดกที่ ๓.

๔. มหาปนาทชาดก ว่าด้วยปราสาทของพระเจ้ามหาปนาท


[๓๙๑] พระเจ้ามหาปนาทนั้น มีปราสาทล้วนแล้วไปด้วยทอง กว้าง ๑๖ ชั่วธนูตก สูง ๑ พันชั่วธนู.
[๓๙๒] และปราสาทนั้นมีพื้น ๗ ชั้น ประกอบไปด้วยธง แล้วไปด้วยแก้วมี สีเขียว มีนางฟ้อน ๖ พัน แบ่งออกเป็น ๗ พวก ฟ้อนรำอยู่ใน ปราสาทนั้น.
[๓๙๓] ดูกรภัททชิ ท่านกล่าวถึงปราสาทนั้นมีแล้วในกาลนั้น ในครั้งนั้น เรา เป็นท้าวสักกะผู้รับใช้การงานของท่าน.

จบ มหาปนาทชาดกที่ ๔.

๕. ขุรัปปชาดก ถึงคราวกล้าควรกล้า


[๓๙๔] เมื่อท่านเห็นพวกโจรยิงลูกธนูอันแหลม ถือดาบอันคมกล้า ซึ่งขัดแล้ว ด้วยน้ำมัน เมื่อมรณภัยปรากฏเฉพาะหน้าแล้ว เหตุไฉนหนอ ท่านจึง ไม่มีความครั่นคร้าม.
[๓๙๕] เมื่อเราเห็นพวกโจรยิงลูกธนูอันแหลม ถือดาบอันคมกล้า ซึ่งขัดแล้ว ด้วยน้ำมัน เมื่อมรณภัยปรากฏเฉพาะหน้าแล้ว เรากลับได้ความยินดี และโสมนัสมากยิ่ง.
[๓๙๖] เรานั้นเกิดความยินดีและโสมนัสแล้ว ก็ครอบงำศัตรูทั้งหลายเสียได้ เพราะว่า ชีวิตของเราๆ ได้สละมาแต่ก่อนแล้ว เราไม่ได้ทำความอาลัย ในชีวิต บุคคลผู้กล้าหาญพึงกระทำกิจของคนกล้า ในกาลบางคราว.

จบ ขุรัปปชาดกที่ ๕.

๖. วาตัคคสินธวชาดก ว่าด้วยมิตรสันถวะเกิดแต่แรกพบ


[๓๙๗] ด้วยเหตุใด คุณแม่จึงมีโรคผอมเหลือง ไม่ชอบใจอาหาร ม้านั้นก็มา คบหาสมาคมแล้ว เหตุไร คุณแม่จึงให้ม้าตัวนั้นหนีไปเสียในบัดนี้เล่า?
[๓๙๘] ลูกเอ๋ย ขึ้นชื่อว่า มิตรสันถวะจะเกิดขึ้นแต่แรกพบปะเทียวแหละ ยศ ของสตรีทั้งหลาย ย่อมเสื่อมไป เพราะฉะนั้น แม่จึงแสร้งทำให้พระยาม้า นั้นหนีไปเสีย.
[๓๙๙] สตรีคนใด ไม่ปรารถนาบุรุษผู้เกิดในตระกูลมียศศักดิ์ ที่มีคนชักพามา แล้ว สตรีคนนั้น จะต้องเศร้าโศกอยู่สิ้นกาลนาน เหมือนนางลาเศร้า โศกถึงพระยาม้าวาตัคคสินธพ ฉะนั้น.

จบ วาตัคคสินธวชาดกที่ ๖.

๗. สุวรรณกักกฏกชาดก ว่าด้วยปูทอง


[๔๐๐] ปูทอง มีนัยน์ตาอันยาว มีหนังเป็นกระดูก เป็นสัตว์อยู่ในน้ำ ไม่มีขน ฉันถูกปูทองนั้นหนีบไว้แล้ว จึงร้องขอความช่วยเหลือ เจ้าอย่าทิ้งฉัน ผู้คู่ชีวิตเสียเลย.
[๔๐๑] ข้าแต่ท่านผู้เป็นลูกเจ้า ดิฉันจักไม่ละทิ้งท่านผู้เป็นช้างทรงกำลังถึง ๖๐ ปี เลย ท่านย่อมเป็นที่รักใคร่อย่างยิ่งของดิฉัน ยิ่งกว่าแผ่นดินซึ่งมีสมุทร สาครสี่เป็นขอบเขต.
[๔๐๒] ปูเหล่าใด อยู่ในมหาสมุทรก็ดี ในแม่น้ำคงคาก็ดี ในแม่น้ำยมุนาก็ดี ท่านเกิดอยู่ในน้ำ ย่อมประเสริฐกว่าปูเหล่านั้น ขอท่านจงปล่อยสามี ของดิฉันผู้ร้องไห้อยู่เถิด.

จบ สุวรรณกักกฏกชาดกที่ ๗.

๘. อารามทูสกชาดก ว่าด้วยเหตุที่นายอุยยานบาลจะถูกติ


[๔๐๓] ลิงตัวใด สมมุติกันว่า เป็นใหญ่กว่าฝูงลิงเหล่านี้ ปัญญาของลิงตัวนั้น มีอยู่เพียงอย่างนี้เท่านั้น ฝูงลิงที่เป็นบริวารนอกนี้ จะมีปัญญาอะไร.
[๔๐๔] ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ ท่านยังไม่รู้อะไร ไฉนมาด่วนติเตียนเราต่างๆ อย่างนี้เล่า เรายังไม่เห็นรากไม้แล้ว จะพึงรู้ต้นไม้ว่า รากหยั่งลงไปลึกได้ อย่างไรเล่า?
[๔๐๕] เราไม่ติเตียนท่านทั้งหลาย พวกท่านเป็นลิงไพร อาศัยอยู่ในป่า แต่ว่า นายอุยยานบาลทั้งหลาย ผู้ปลูกต้นไม้ เพื่อประโยชน์แก่พระราชา พระองค์ใด พระราชาพระองค์นั้น คือ พระเจ้าวิสสเสนะ จะพึงถูก ติเตียนได้.

จบ อารามทูสกชาดกที่ ๘.

๙. สุชาตาชาดก ว่าด้วยถ้อยคำไพเราะทำให้คนรัก


[๔๐๖] สัตว์เหล่านี้ สมบูรณ์ด้วยสีสรรวรรณะ มีสำเนียงอ่อนหวาน น่ารัก น่าชม (แต่) เป็นสัตว์มีวาจากระด้าง ย่อมไม่เป็นที่รักของใคร ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้าเลย.
[๔๐๗] ท่านก็ได้เห็นมิใช่หรือว่า นกดุเหว่าดำลายพร้อยพรายตัวนี้ เป็นที่รักของ สัตว์ทั้งหลายเป็นอันมาก เพราะวาจาอ่อนหวาน?
[๔๐๘] เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการจะให้ตนเป็นที่รักของประชาชน พึงกล่าวแต่ ถ้อยคำสละสลวย พูดพอประมาณ ไม่ฟุ้งซ่าน ถ้อยคำของผู้แสดง อรรถ และธรรม เป็นถ้อยคำไพเราะ.

จบ สุชาตาชาดกที่ ๙.

๑๐. อุลูกชาดก ว่าด้วยหน้าตาไม่ดีไม่ควรให้เป็นใหญ่
[๔๐๙] ได้ยินว่า พวกญาติทั้งมวล ตั้งนกเค้าให้เป็นใหญ่ ถ้าพวกญาติอนุญาต ฉันจะขอพูดสักคำหนึ่ง.
[๔๑๐] ดูกรสหาย เราทั้งหมดอนุญาตให้ท่านพูด แต่จงพูดแต่ถ้อยคำที่เป็น อรรถ และธรรมอย่างเดียว เพราะว่า นกที่หนุ่มๆ มีปัญญา และทรง ไว้ซึ่งญาณอันรุ่งเรือง มีอยู่.
[๔๑๑] ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย การแต่งตั้งนกเค้าให้เป็นใหญ่ ข้าพเจ้า ไม่ชอบใจ ท่านจงมองดูหน้าของนกเค้าผู้ไม่โกรธเถิด นกเค้าโกรธแล้ว จักทำหน้าตาเป็นอย่างไร?

จบ อุลูกชาดกที่ ๑๐.

จบ ปทุมวรรคที่ ๒. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. ปทุมชาดก ๒. มุทุปาณิชาดก ๓. จุลลปโลภนชาดก ๔. มหาปนาทชาดก ๕. ขุรัปปชาดก ๖. วาตัคคสินธวชาดก ๗. สุวรรณกักกฏกชาดก ๘. อารามทูสกชาดก ๙. สุชาตาชาดก ๑๐. อุลูกชาดก. _________________

๓. อุทปานทูสกวรรค

๑. อุทปานทูสกชาดก ว่าด้วยการขี้เยี่ยวลงบ่อน้ำเป็นธรรมดาของหมาจิ้งจอก


[๔๑๒] ดูกรสหาย ทำไม ท่านจึงถ่ายมูตรและคูถรดบ่อน้ำที่ทำได้โดยยาก ของ ฤาษีผู้อยู่ป่า แสวงหาตบะอยู่ตลอดกาลนาน?
[๔๑๓] เราพวกสุนัขจิ้งจอก ดื่มกินน้ำ ณ ที่ใดแล้ว ย่อมถ่ายอุจจาระปัสสาวะลง ในที่นั้น เป็นธรรมดาของสุนัขจิ้งจอกทั้งหลาย เป็นธรรมดาของบิดา มารดา และปู่ ย่า ตา ยาย ท่านไม่ควรจะถือโกรธธรรมดาอันนั้นของ พวกเราเลย.
[๔๑๔] อาการเช่นนี้ เป็นธรรมดาของพวกท่าน อนึ่ง อาการเช่นไร ไม่เป็น ธรรมดาของพวกท่าน ขอพวกเราอย่าได้เห็นธรรมดา หรือมิใช่ธรรมดา ของพวกท่าน ในกาลไหนๆ อีกเลย.

จบ อุทปานทูสกชาดกที่ ๑.

๒. พยัคฆชาดก ว่าด้วยเรื่องของมิตร


[๔๑๕] ความเกษมจากโยคะ ย่อมเสื่อมไปเพราะการคบหากับมิตรคนใด บัณฑิต พึงรักษาลาภ ยศ และชีวิตของตน ที่มิตรนั้นครอบงำไว้เสียก่อน ดุจ บุคคลผู้รักษาตาของตนไว้ ฉะนั้น.
[๔๑๖] ความเกษมจากโยคะ ย่อมเจริญเพราะการคบหากับมิตรคนใด บุรุษ ผู้ฉลาดในกิจทั้งมวล พึงกระทำกิจทุกอย่างของกัลยาณมิตรให้เหมือน ของตน.
[๔๑๗] ดูกรราชสีห์และเสือโคร่ง จงมาเถิด เชิญท่านทั้งสองจงกลับเข้าไปยัง ป่าใหญ่ พวกมนุษย์อย่ามาตัดป่าของเราให้ปราศจากราชสีห์และเสือโคร่ง เสียเลย ราชสีห์และเสือโคร่ง อย่าได้เป็นผู้ไร้ป่า.

จบ พยัคฆชาดกที่ ๒.

๓. กัจฉปชาดก ว่าด้วยลิงสัปดน


[๔๑๘] ใครหนอเดินมา เหมือนบุคคลผู้รวยอาหาร เหมือนพราหมณ์ผู้ได้ลาภ มาเต็มมือ ฉะนั้น ท่านไปรวยภิกษาหารมาแต่ที่ไหนหนอ ท่านเข้าไปหา ผู้มีศรัทธาคนไรมา?
[๔๑๙] ดูกรท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นลิง ทรามปัญญา จับต้องสิ่งที่บุคคลไม่ควร จับต้อง ขอพระคุณเจ้าโปรดเปลื้องข้าพเจ้าให้พ้นทุกข์ด้วยเถิด ขอความ เจริญจงมีแก่พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าพ้นจากความฉิบหายนี้แล้วจะไปอยู่ที่ ภูเขา.
[๔๒๐] เต่าทั้งหลาย เป็นสัตว์สืบเนื่องมาจากกัสสปโคตร ลิงทั้งหลายเป็นสัตว์ สืบเนื่องมาจากโกณฑัญญโคตร ดูกรเต่าผู้เทือกแถวกัสสปโคตร ท่าน จงปล่อยลิงผู้เทือกแถวโกณฑัญญโคตรเสียเถิด ท่านคงเคยทำเมถุนธรรม กันแล้ว.

จบ กัจฉปชาดกที่ ๓.

๔. โลลชาดก ว่าด้วยโทษของความโลเล


[๔๒๑] นกยางตัวนี้ อย่างไรจึงมีหงอน เป็นโจร (เข้ามาอยู่ที่รังกา) ดูกรนกยาง ผู้มีเมฆเป็นบิดา ท่านจงมาเสียข้างนี้เถิด กาผู้เป็นสหายของเรา เป็นผู้ ดุร้าย.
[๔๒๒] เราไม่ใช่นกยางมีหงอน เราเป็นกาโลเล ไม่ได้ทำตามคำของท่าน กลับ มาแล้ว จงมองดูเราผู้รุ่นนี้เถิด.
[๔๒๓] ดูกรสหาย ท่านจะได้รับทุกข์อีก เพราะว่า ปกติของท่านเป็นเช่นนั้น เครื่องบริโภคของมนุษย์ไม่ควรที่นกจะพึงบริโภค.

จบ โลลชาดกที่ ๔.

๕. รุจิรชาดก


[๔๒๔] นกยางตัวนี้ อย่างไรจึงขาว น่ารัก มาอยู่ในรังกาได้ และนี่เป็นรังของกา ผู้ดุร้ายสหายของเรา.
[๔๒๕] ดูกรนกพิราบผู้สหาย ท่านก็รู้จักเรา ผู้มีข้าวฟ่างเป็นอาหารมิใช่หรือ เรา มิได้กระทำตามคำของท่าน กลับมาแล้ว จงมองดูเราผู้รุ่นนี้เถิด.
[๔๒๖] ดูกรกาผู้สหาย ท่านจะได้รับทุกข์อีก เพราะว่า ปกติของท่านเป็นเช่นนั้น เครื่องบริโภคของมนุษย์ไม่ควรที่นกจะพึงบริโภค.

จบ รุจิรชาดกที่ ๕.

๖. กุรุธรรมชาดก ว่าด้วยให้ช้างแก่ท้าวกาลิงคราช


[๔๒๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่กว่าประชาชน ข้าพระบาททั้งหลาย ได้ทราบ ศรัทธา และศีลของพระองค์แล้ว จึงมาขอรับพระราชทานเอาทองคำ แลกกับช้างมีสีดังดอกอัญชัน นำไปในแคว้นกาลิงคราช.
[๔๒๘] สัตว์ที่พึงเลี้ยงด้วยข้าวก็ดี ที่ไม่ได้เลี้ยงก็ดี ผู้ใด ในโลกนี้ ตั้งใจมาหาเรา สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด เราก็มิได้ห้ามเลย นี้เป็นถ้อยคำของท่านบูรพาจารย์.
[๔๒๙] ดูกรพราหมณ์ทั้งหลาย เราจะให้ช้างนี้อันควรเป็นราชพาหนะ เป็นราช บริโภค ประกอบไปด้วยยศ ประดับไปด้วยเครื่องประดับ ปกคลุมไป ด้วยข่ายทอง มีนายหัตถาจารย์ พร้อมแก่ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านจงไป ตามปรารถนาเถิด.

จบ กุรุธรรมชาดกที่ ๖.

๗. โรมชาดก ว่าด้วยอาชีวกเจ้าเล่ห์


[๔๓๐] ดูกรปักษีผู้มีขนปีก เมื่อเรามาอยู่ในถ้ำแห่งภูเขานี้กว่า ๕๐ ปี นกพิราบ ทั้งหลายก็มิได้รังเกียจ เป็นผู้มีจิตเยือกเย็นเป็นอย่างยิ่ง ย่อมพากันมาสู่ บ่วงมือของเรา ในกาลก่อน.
[๔๓๑] ดูกรท่านผู้มีอวัยวะคด บัดนี้ นกพิราบเหล่านั้น คงจะเห็นเหตุอะไร กระมัง จึงใคร่จะพากันไปเสพอาศัยซอกภูเขาอื่น นกเหล่านี้ ครั้งก่อน ย่อมสำคัญเราอย่างไร บัดนี้ ย่อมไม่สำคัญเราอย่างนั้นหรือ หรือนก เหล่านี้ พลัดพรากไปนานแล้ว จำเราไม่ได้ หรือว่าเป็นนกใหม่จึงไม่เข้า ใกล้เรา?
[๔๓๒] พวกเราเป็นผู้ไม่หลงใหล รู้อยู่ว่า ท่านก็คือท่านนั่นแหละ พวกเราเหล่า นั้นก็ไม่ใช่นกอื่น ก็แต่ว่า จิตของท่านเป็นจิตประทุษร้ายในชนนี้ ดูกร อาชีวก เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงหวาดกลัวท่าน.

จบ โรมชาดกที่ ๗.

๘. มหิสชาดก ว่าด้วยลิงกับควาย


[๔๓๓] ท่านอาศัยเหตุอะไรจึงอดกลั้นทุกข์นี้ ต่อลิงผู้มีจิตกลับกลอก มักประทุษ ร้ายมิตร ดุจเป็นเจ้าของผู้ให้ความใคร่ทั้งปวง.
[๔๓๔] ท่านจงขวิดมันเสีย (ด้วยเขา) จงเหยียบเสีย (ด้วยเท้า) ถ้าไม่ห้าม ปรามมันเสีย สัตว์ทั้งหลายที่โง่เขลา ก็จะพึงเบียดเบียนร่ำไป.
[๔๓๕] เมื่อลิงตัวนี้ ดูหมิ่นควายตัวอื่น ดุจดูหมิ่นข้าพเจ้า จักกระทำอนาจาร อย่างนี้แก่ควายตัวอื่น ควายเหล่านั้น ก็จะฆ่ามันเสียในที่นั้น ความพ้น อันนั้นจักมีแก่ข้าพเจ้า.

จบ มหิสชาดกที่ ๘.

๙. สตปัตตชาดก ว่าด้วยความสำคัญผิด


[๔๓๖] มาณพสำคัญนางสุนัขจิ้งจอกในหนทาง ซึ่งเที่ยวอยู่ในป่า ผู้ปรารถนา ประโยชน์ และบอกให้รู้ด้วยอาการอย่างนั้นว่า เป็นผู้ปรารถนาความ ฉิบหาย มาสำคัญนกกระไนผู้ปรารถนาความฉิบหายว่า เป็นผู้ปรารถนา ประโยชน์ ฉันใด.
[๔๓๗] บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมเป็นเช่นนั้น เมื่อชนทั้งหลายผู้ปรารถนาประ โยชน์จึงกล่าวสอน ย่อมกลับถือเอาโดยไม่เคารพ ฉันนั้น.
[๔๓๘] อนึ่ง ชนเหล่าใด สรรเสริญบุคคลนั้นก็ดี ยกย่องบุคคลนั้นเพราะกลัว ก็ดี ก็สำคัญชนเหล่านั้นว่า เป็นมิตร เหมือนมาณพสำคัญผิดนกกระไน ว่า เป็นมิตร ฉะนั้น.

จบ สตปัตตชาดกที่ ๙.

๑๐. ปูฏทูสกชาดก ว่าด้วยผู้ชอบทำลาย


[๔๓๙] พระยาเนื้อจะฉลาดในการทำห่อใบไม้เป็นแน่ เพราะฉะนั้น จึงได้รื้อห่อ ใบไม้เสีย คงจะทำห่อใบไม้อย่างอื่นให้ดีกว่าเก่าเป็นมั่นคง.
[๔๔๐] บิดา หรือมารดาของเรา ไม่ใช่เป็นคนฉลาดในการทำห่อใบไม้เลย เรา ได้แต่รื้อสิ่งของที่ทำไว้แล้วๆ เท่านั้น ตระกูลของเรานี้ เป็นธรรมดา อย่างนี้.
[๔๔๑] ธรรมดาของท่านทั้งหลายเป็นถึงเช่นนี้ ก็สภาพที่มิใช่ธรรมดาจะเป็น เช่นไร ขอพวกเราอย่าได้เห็นธรรมดา หรือมิใช่ธรรมดาของท่านทั้งหลาย ในกาลไหนๆ เลย.

จบ ปูฏทูสกชาดกที่ ๑๐.

จบ อุทปานวรรคที่ ๓. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. อุทปานทูสกชาดก ๒. พยัคฆชาดก ๓. กัจฉปชาดก ๔. โลลชาดก ๕. รุจิรชาดก ๖. กุรุธรรมชาดก ๗. โรมชาดก ๘. มหิสชาดก ๙. สตปัตตชาดก ๑๐. ปูฏทูสกชาดก. _________________

๔. อัพภันตรวรรค

๑. อัพภันตรชาดก ว่าด้วยผลไม้ทิพย์


[๔๔๒] ผลของต้นไม้ชื่ออัพภันตระ เป็นผลไม้ทิพย์ นางนารีที่แพ้ท้อง บริโภค แล้ว จะประสูติพระราชโอรสเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ.
[๔๔๓] ดูกรนางผู้เจริญ แม้ท่านก็เป็นพระมเหสีผู้เลอโฉม และเป็นที่รักของ พระราชสวามี พระราชาจักทรงนำเอาผลไม้ชื่ออัพภันตระนี้มาให้แก่ท่าน.
[๔๔๔] บุคคลผู้กล้าหาญ ยอมเสียสละตน กระทำความพากเพียรในประโยชน์ ของท่านที่ได้เลี้ยงตนมา ย่อมถึงฐานะอันใด ข้าพเจ้าเป็นผู้จะได้ฐานะ อันนั้น.

จบ อัพภันตรชาดกที่ ๑.

๒. เสยยชาดก


[๔๔๕] ผู้ใด คบหากับบุคคลผู้ประเสริฐ ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้มีส่วนอันประเสริฐ ด้วย เราสมานไมตรีกับพระยาโจรคนเดียวก็ปลดเปลื้องท่านทั้งหลาย ผู้ต้องโทษได้ทั้งร้อยคน.
[๔๔๖] เพราะฉะนั้น บุคคลคนเดียวสมานไมตรีกับโลกทั้งมวลสิ้นชีพแล้ว ก็ พึงเข้าถึงสวรรค์ ท่านชาวกาสิกรัฐทั้งหลาย จงฟังคำของเรานี้เถิด.
[๔๔๗] พระเจ้ากังสมหาราช ครอบครองราชสมบัติเมืองพาราณสี ได้ตรัสพระ ราชดำรัสนี้แล้ว ก็ทรงสละทั้งธนู และลูกศรเสีย ทรงสมาทาน สำรวม ศีล.

จบ เสยยชาดกที่ ๒.

๓. วัฑฒกีสูกรชาดก ว่าด้วยหมูสู้เสือได้ด้วยสามัคคีกัน


[๔๔๘] ดูกรเสือโคร่ง วันก่อนๆ ท่านเคยย่ำยีหมูทั้งหลายในประเทศนี้ แล้ว นำเอาหมูตัวอ้วนๆ มา บัดนี้ ท่านเดินซบเซามาแต่ผู้เดียว ดูกรเสือโคร่ง ก็วันนี้ กำลังกายของท่านไม่มีหรือ?
[๔๔๙] ได้ยินว่า วันก่อนๆ หมูเหล่านี้ เห็นข้าพเจ้าเข้าแล้วก็กลัวต่างก็บ่ายหน้า หนีไปหาที่ซ่อนเร้นคนละทิศละทาง บัดนี้ หมูเหล่านั้น มาประชุมรวมกัน เป็นหมวดเป็นหมู่ อยู่ในที่ชัยภูมิดี ยากที่ข้าพเจ้าจะย่ำยีได้.
[๔๕๐] ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแก่หมู่หมูที่มาประชุมกัน ข้าพเจ้าได้เห็นมิตรภาพอัน น่าอัศจรรย์ ควรสรรเสริญแล้ว จึงขอกล่าวสรรเสริญไว้ หมูทั้งหลายผู้มี เขี้ยวเป็นกำลัง ได้ชนะเสือโคร่งด้วยสามัคคีอันใด ก็พากันพ้นมรณภัย ด้วยความสามัคคีอันนั้น.

จบ วัฑฒกีสูกรชาดกที่ ๓.

๔. สิริชาดก ว่าด้วยโภคะเกิดแก่ผู้มีบุญ


[๔๕๑] ผู้ไม่มีบุญ จะเป็นผู้มีศิลปะหรือไม่ก็ตาม ย่อมขวนขวายรวบรวมทรัพย์ไว้ เป็นอันมาก ผู้มีบุญย่อมใช้สอยทรัพย์เหล่านั้น.
[๔๕๒] โภคะเป็นอันมาก ย่อมล่วงเลยสัตว์เหล่าอื่นไปเสีย เกิดขึ้นในที่ทั้งปวง เทียว สำหรับผู้มีบุญอันกระทำไว้ ใช่แต่เท่านั้น รัตนะทั้งหลายก็บังเกิด ขึ้นแม้ในที่มิใช่บ่อเกิด.
[๔๕๓] ไก่ แก้วมณี ไม้เท้า และหญิงชื่อว่า บุญญลักขณาเทวี ย่อมเกิดขึ้น แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้ไม่มีบาป มีบุญอันกระทำไว้แล้ว.

จบ สิริชาดกที่ ๔.

๕. มณิสูกรชาดก ว่าด้วยของดีใครทำลายไม่ได้


[๔๕๔] พวกข้าพเจ้าประมาณ ๓๐ ตัว อาศัยอยู่ในถ้ำแก้วมณี ๗ ปี ได้ปรึกษา กันว่า จะช่วยกันกำจัดแสงแก้วมณีให้เศร้าหมอง.
[๔๕๕] พวกข้าพเจ้าช่วยกันเสียดสีแก้วมณี แก้วมณีกลับมีสีสุกใสขึ้นกว่าเก่า บัดนี้ พวกข้าพเจ้าขอถามท่านถึงเหตุนั้น ท่านย่อมสำคัญกิจในเรื่องนี้ อย่างไร?
[๔๕๖] ดูกรหมูทั้งหลาย แก้วไพฑูรย์นี้ เป็นของแข็ง งามผ่องใส ใครๆ ไม่ สามารถจะกำจัดแก้วไพฑูรย์นั้นให้เศร้าหมองได้เลย ท่านทั้งหลายจงพา กันหลีกหนีไปอยู่ที่อื่นเสียเถิด.

จบ มณิสูกรชาดกที่ ๕.

๖. สาลุกชาดก ว่าด้วยอุบายไม่ให้ถูกฆ่า


[๔๕๗] ท่านอย่าปรารถนาอาหารอย่างหมูชื่อสาลุกะเลย เพราะว่า หมูชื่อว่าสาลุกะ นี้ บริโภคอาหารเป็นเครื่องเดือดร้อน ท่านจงเป็นผู้มีความขวนขวาย น้อย เคี้ยวกินแต่ข้าวลีบนี้เถิด นี้เป็นลักษณะแห่งความอายุยืน.
[๔๕๘] ในไม่ช้า ราชบุรุษผู้มีบริวารมากนั้น ก็จะเป็นแขกมาประชุมกัน ณ สถานที่นี้ ในกาลนั้น ท่านก็จะได้เห็นหมูสาลุกะตัวนี้ อันเจ้าของให้ทุบ ด้วยไม้ฆ้อนนอนตายอยู่.
[๔๕๙] วัวชราทั้งสองตัว พอเห็นหมูสาลุกะผู้กล้าหาญ อันเจ้าของให้ทุบด้วยไม้ ฆ้อนนอนตายอยู่ ก็คิดร่วมกันว่า ข้าวลีบเท่านั้น เป็นอาหารอย่างสูงสุด ของเรา.

จบ สาลุกชาดกที่ ๖.

๗. ลาภครหิกชาดก ว่าด้วยวิธีการหลอกลวง


[๔๖๐] ไม่ใช่คนบ้า ทำเป็นเหมือนคนบ้า ไม่ใช่คนส่อเสียด ก็ทำเป็นเหมือนคน ส่อเสียด ไม่ใช่นักฟ้อนรำ ก็ทำเป็นเหมือนนักฟ้อนรำ ไม่ใช่คนตื่นข่าว ก็ทำเป็นเหมือนคนตื่นข่าว ย่อมจะได้ลาภในคนผู้หลงใหลทั้งหลาย นี้ เป็นคำสั่งสอนแก่ท่าน.
[๔๖๑] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ น่าติเตียนความประพฤติอัตตวินิบาตกรรม การประ พฤติธรรม การได้ยศ และได้ทรัพย์.
[๔๖๒] อนึ่ง ถ้าบุคคลจะถือเอาบาตรออกไปบวชเสีย ความเป็นอยู่นี้แล ประเสริฐกว่าการแสวงหาโดยอธรรม.

จบ ลาภครหิกชาดกที่ ๗.

๘. มัจฉทานชาดก ว่าด้วยบุญที่ให้ทานแก่ปลา


[๔๖๓] ปลาทั้งหลาย มีราคาถึงหนึ่งพันกหาปณะกับ ๗ มาสก ย่อมจะไม่มีผู้ใดผู้ หนึ่งเชื่อถือเลย และในที่นี้ เราก็มี ๗ มาสกเท่านั้น แต่เราก็ซื้อปลาตัว นั้นได้.
[๔๖๔] ท่านได้ให้โภชนะแก่ปลาทั้งหลาย แล้วอุทิศส่วนบุญให้แก่เรา เรา ระลึกถึงส่วนบุญอันนั้น และความนอบน้อมที่ท่านได้กระทำแล้ว จึง รักษาทรัพย์ของท่านนี้ไว้.
[๔๖๕] บุคคลผู้มีจิตคิดประทุษร้าย ย่อมไม่มีความเจริญเลย ใช่แต่เท่านั้น เทวดาทั้งหลายก็ไม่บูชาผู้นั้น ผู้ใด ทำกรรมอันชั่วช้า ยักยอกเอาทรัพย์ มรดกของบิดา ไม่ต้องการจะให้พี่ชาย เทวดาทั้งหลาย ย่อมไม่บูชาผู้นั้น.

จบ มัจฉทานชาดกที่ ๘.

๙. นานาฉันทชาดก ว่าด้วยต่างคนต่างใจ


[๔๖๖] ข้าแต่มหาราช ข้าพระบาททั้งหลายอยู่ร่วมในเรือนหลังเดียวกัน แต่มี ฉันทะต่างกัน ข้าพระบาทอยากได้บ้านส่วย นางพราหมณีอยากได้โคนม สักร้อยหนึ่ง.
[๔๖๗] ลูกชายอยากได้รถเทียมด้วยม้าอาชาไนย ลูกสะใภ้อยากได้กุณฑลแก้ว ฝ่ายนางปุณณทาสีผู้ชั่วช้าก็จำนงจะใคร่ได้ครก สาก และกระด้ง.
[๔๖๘] ท่านทั้งหลาย จงให้บ้านส่วยแก่พราหมณ์ จงให้โคนมร้อยหนึ่งแก่นาง พราหมณี จงให้รถเทียมด้วยม้าอาชาไนยแก่ลูกชาย จงให้กุณฑลแก้ว แก่ลูกสะใภ้ และจงให้ครกตำข้าว สาก และกระด้งแก่นางปุณณทาสี ผู้ชั่วช้า.

จบ นานาฉันทชาดกที่ ๙.

๑๐. สีลวีมังสชาดก ว่าด้วยอานิสงส์ของศีล


[๔๖๙] ได้ทราบมาว่า ศีลเป็นความงาม ศีลเป็นเยี่ยมในโลก ท่านจงดูซิ งู ใหญ่มีพิษอันร้ายแรง ย่อมไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยรู้สึกตัวว่า เป็นผู้มีศีล.
[๔๗๐] เราจักสมาทานศีลที่บัณฑิตรับรองแล้วว่า เป็นความปลอดภัยในโลก เป็นคุณชาติเครื่องให้บัณฑิตเรียกบุคคลผู้ประพฤติตามข้อปฏิบัติของพระ อริยะว่า เป็นผู้มีศีล.
[๔๗๑] อนึ่ง บุคคลผู้มีศีล ย่อมเป็นที่รักของญาติทั้งหลาย และรุ่งเรืองในหมู่ มิตร เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติ.

จบ สีลวีมังสชาดกที่ ๑๐.

จบ อัพภันตรวรรคที่ ๔. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. อัพภันตรชาดก ๒. เสยยชาดก ๓. วัฑฒกีสูกรชาดก ๔. สิริชาดก ๕. มณิสูกรชาดก ๖. สาลุกชาดก ๗. ลาภครหิกชาดก ๘. มัจฉทานชาดก ๙. นานาฉันทชาดก ๑๐. สีลวีมังสชาดก. _________________

๕. กุมภวรรค ๑. ภัทรฆฏเภทกชาดก คนโง่เขลาเดือดร้อนภายหลัง


[๔๗๒] นักเลงได้หม้อสารพัดนึกอันเป็นยอดทรัพย์ใบหนึ่ง ยังรักษาหม้อนั้นไว้ ได้ตราบใด เขาก็จะได้รับความสุขอยู่ตราบนั้น.
[๔๗๓] เมื่อใด เขาประมาท และเย่อหยิ่ง ได้ทำลายหม้อให้แตก เพราะความ ประมาท เมื่อนั้น ก็เป็นคนเปลือย และนุ่งผ้าเก่า เป็นคนโง่เขลา ย่อม เดือดร้อนในภายหลัง.
[๔๗๔] คนผู้ประมาทโง่เขลา ได้ทรัพย์มาแล้วย่อมใช้สอย จะต้องเดือดร้อนใน ภายหลัง เหมือนนักเลงทุบหม้อยอดทรัพย์เสีย ฉะนั้น.

จบ ภัทรฆฏเภทกชาดกที่ ๑.

๒. สุปัตตชาดก ว่าด้วยนางกาแพ้ท้อง


[๔๗๕] ข้าแต่มหาราช พระยากาชื่อสุปัตตะ เป็นกาอยู่ในเมืองพาราณสี อันกา แปดหมื่นแวดล้อมแล้ว.
[๔๗๖] นางกาสุปัสสาภรรยาของพระยากานั้นแพ้ท้อง ปรารถนาจะกินพระ กระยาหารมีค่ามาก ที่คนหุงต้มแล้วในห้องเครื่อง.
[๔๗๗] ข้าพระบาทเป็นทูตของพระยากาทั้งสองนั้น ถูกนายใช้ให้มาจึงได้เป็นผู้มา ในที่นี้ ข้าพระบาทจะกระทำความจงรักต่อเจ้านาย จึงได้จิกจมูกของคน เชิญเครื่องให้เป็นแผล.

จบ สุปัตตชาดกที่ ๒.

๓. กายนิพพินทชาดก ว่าด้วยความเบื่อหน่ายร่างกาย


[๔๗๘] เมื่อเราถูกโรคอย่างหนึ่งถูกต้อง ได้เสวยทุกขเวทนาอย่างสาหัส อัน ทุกข์เวทนาเบียดเบียนอยู่ ร่างกายนี้ก็ซูบผอมลงอย่างรวดเร็ว ดุจดอกไม้ ที่ทิ้งตากแดดไว้ที่ทราย ฉะนั้น.
[๔๗๙] รูปร่างอันไม่น่าพอใจถึงการนับว่า น่าพอใจ ที่ไม่สะอาดสมมติว่า เป็น ของสะอาด เต็มด้วยซากศพต่างๆ ปรากฏแก่คนพาลผู้ไม่พิจารณาเห็นว่า เป็นของน่าพอใจ.
[๔๘๐] น่าติเตียนกายอันเปื่อยเน่า กระสับกระส่าย น่าเกลียด ไม่สะอาด มี ความป่วยไข้เป็นธรรมดา เป็นที่ๆ หมู่สัตว์ผู้ประมาทหมกมุ่นอยู่ ย่อม ยังหนทางเพื่อความเข้าถึงสุคติให้เสื่อมไป.

จบ กายนิพพินทชาดกที่ ๓.

๔. ชัมพุขาทกชาดก ว่าด้วยการสรรเสริญกันและกัน
[๔๘๑] ใครนี่ มีเสียงอันไพเราะเพราะพริ้ง อุดมกว่าสัตว์ผู้ที่มีเสียงเพราะทั้งหลาย จับอยู่ที่กิ่งชมพู่ ส่งเสียงร้องไพเราะดุจลูกนกยูง ฉะนั้น.
[๔๘๒] กุลบุตรย่อมรู้จักสรรเสริญกุลบุตร ดูกรสหายผู้มีผิวพรรณคล้ายกับลูก เสือโคร่ง เชิญท่านบริโภคเถิด เรายอมให้แก่ท่าน.
[๔๘๓] ดูกรบุคคลผู้สรรเสริญกันและกัน เราได้เห็นคนพูดมุสา คือ กาผู้เคี้ยว กินของที่คนอื่นคายแล้ว และสุนัขจิ้งจอกผู้กินซากศพ มาประชุมกัน นานมาแล้ว.

จบ ชัมพุขาทกชาดกที่ ๔.

๕. อันตชาดก ว่าด้วยที่สุด ๓ ประเภท


[๔๘๔] ข้าแต่พระยาเนื้อ ร่างกายของท่านเหมือนของโคอุสุภราช ความองอาจ ของท่านเหมือนของสีหราช ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่าน ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจักได้อาหารสักหน่อย?
[๔๘๕] กุลบุตรย่อมรู้จักสรรเสริญกุลบุตร ดูกรกาผู้มีสร้อยคองามดุจนกยูง เชิญท่านลงจากต้นละหุ่งมากินเนื้อให้สบายเถิด.
[๔๘๖] บรรดามฤคชาติทั้งหลาย สุนัขจิ้งจอกเป็นเลวที่สุด บรรดาปักษีทั้งหลาย กาเป็นเลวที่สุด บรรดารุกขชาติทั้งหลาย ต้นละหุ่งเป็นเลวที่สุด ที่สุด ๓ ประเภทมารวมกันเอง.

จบ อันตชาดกที่ ๕.

๖. สมุททชาดก ว่าด้วยสมุทรสาคร


[๔๘๗] ใครนี้หนอ มาเที่ยววนเวียนอยู่ในน้ำทะเลอันเค็ม ย่อมห้ามปลา และ มังกรทั้งหลาย และย่อมเดือดร้อนในกระแสน้ำที่มีคลื่น?
[๔๘๘] ข้าพเจ้าเป็นนกชื่อว่า อนันตปายี ปรากฏไปทั่วทิศว่า เป็นผู้ไม่อิ่ม เรา ปรารถนาจะดื่มน้ำ ในมหาสมุทรสาครใหญ่กว่าแม่น้ำทั้งหลาย.
[๔๘๙] สมุทรสาครนี้พร่องก็ดี เต็มเปี่ยมอยู่ก็ดี ใครๆ จะดื่มน้ำในสมุทรสาคร นั้น ก็หาพร่องไปไม่ ได้ยินมาว่า สาครอันใครๆ ไม่อาจจะดื่มกิน ให้หมดสิ้นไปได้.

จบ สมุททชาดกที่ ๖.

๗. กามวิลาปชาดก ว่าด้วยผู้พิลาปถึงกาม


[๔๙๐] ดูกรนกผู้ปีกเป็นยาน บินทะยานไปในเวหา บินไปในอากาศอันสูง ท่านช่วยบอกกะภรรยาของข้าพเจ้าผู้มีลำขาเสมอด้วยต้นกล้วยว่าข้าพเจ้าถูก เสียบอยู่บนหลาว ภรรยาของข้าพเจ้านั้น เมื่อไม่รู้ข่าวคราวอันนี้ ก็จัก ทำการมาของข้าพเจ้าให้ล่าช้าไป.
[๔๙๑] ภรรยาของข้าพเจ้านั้น ยังไม่รู้เหตุที่ข้าพเจ้าถูกเสียบหลาวและหอก นาง เป็นคนดุร้าย ก็จะโกรธข้าพเจ้า ความโกรธแห่งภรรยาของข้าพเจ้านั้น จะทำให้ข้าพเจ้าเดือดร้อนไปด้วย อนึ่ง หลาวนี้ อย่าทำให้ข้าพเจ้าเดือด ร้อนเลย.
[๔๙๒] หอกและเกราะนี้ ข้าพเจ้าเก็บไว้ที่หัวนอน อนึ่ง แหวนประดับนิ้วก้อย ที่ทำด้วยทองคำเนื้อสุก และผ้าแคว้นกาสีเนื้ออ่อน ข้าพเจ้าก็เก็บไว้ที่ หัวนอน ขอภรรยาที่รักของข้าพเจ้า ผู้มีความต้องการทรัพย์ จงยินดี ด้วยทรัพย์นี้เถิด.

จบ กามวิลาปชาดกที่ ๗.

๘. อุทุมพรชาดก ผู้อ่อนน้อมชื่อว่าเป็นผู้อิ่ม


[๔๙๓] ต้นมะเดื่อ ต้นไทร และต้นมะขวิดนี้ มีผลสุกแล้ว เชิญท่านออกมา กินเสียเถิด จะยอมตายเพราะความหิวโหยทำไม?
[๔๙๔] ผู้ใด ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้อิ่มแล้ว ไม่หวงแหน เหมือนข้าพเจ้าเคี้ยวกินผลไม้สุกจนอิ่มแล้ว ในวันนี้ ไม่หวงแหนผลไม้ ที่สุกแล้ว ฉะนั้น.
[๔๙๕] ลิงเกิดในป่า พึงหลอกลวงลิงที่เกิดในป่า เพราะเหตุอันใด แม้ลิงหนุ่มเช่น ท่านก็ไม่พึงเชื่อเหตุอันนั้น ลิงผู้ใหญ่ที่แก่เฒ่าชราเช่นข้าพเจ้า ไม่พึง เชื่อถือเลย.

จบ อุทุมพรชาดกที่ ๘.

๙. โกมาริยปุตตชาดก ว่าด้วยผู้ไกลจากภูมิฌาน


[๔๙๖] เจ้าลิง เมื่อก่อน เจ้าเคยโลดเต้นเล่นในสำนัก เราผู้คะนองเล่นเป็นปกติ เจ้าจะกระทำอาการโลดเต้นอย่างไรมาก่อน บัดนี้ เราไม่ชื่นชมยินดีอาการ นั้นของเจ้าแล้ว.
[๔๙๗] ความหมดจดด้วยฌานอย่างสูง เราได้ฟังมาจากอาจารย์ชื่อโกมาริยบุตร ผู้เป็นพหูสูต บัดนี้ ท่านอย่าเข้าใจเราว่าเหมือนแต่ก่อน ดูกรท่านผู้มีอายุ เราประกอบไปด้วยฌานอยู่ทั้งนั้น.
[๔๙๘] เจ้าลิงเอ๋ย ถ้าแม้บุคคลจะพึงหว่านพืชลงที่แผ่นหิน ถึงฝนจะตกลงมา พืชนั้นก็งอกงามขึ้นไม่ได้แน่ ความหมดจดด้วยฌานอย่างสูงนั้น ถึงเจ้า จะได้ฟังมาแล้ว เจ้าก็ยังเป็นผู้ไกลจากภูมิฌานมากนัก.

จบ โกมาริยปุตตชาดกที่ ๙.

๑๐. พกชาดก ว่าด้วยการทำลายตบะ


[๔๙๙] หมาป่าตัวมีเนื้อและเลือดเป็นอาหาร เป็นอยู่ได้ เพราะฆ่าสัตว์อื่น สมาทานวัตรแล้ว รักษาอุโบสถอยู่.
[๕๐๐] ท้าวสักกะทรงทราบวัตรของหมาป่านั้นแล้ว จึงจำแลงเป็นแพะมา หมาป่า นั้นปราศจากตบะ ต้องการดื่มกินเลือดจึงวิ่งไปจะกินแพะ ได้ทำลายตบะ ธรรมเสียแล้ว.
[๕๐๑] บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีวัตรอันเลวทราม ในการสมาทานวัตร ย่อมทำตนให้เบา ดุจหมาป่าทำลายตบะของตน เพราะเหตุต้องการแพะ ฉะนั้น.

จบ พกชาดกที่ ๑๐.

จบ กุมภวรรคที่ ๕. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. ภัทรฆฏเภทกชาดก ๒. สุปัตตชาดก ๓. กายนิพพินทชาดก ๔. ชัมพุขาทกชาดก ๕. อันตชาดก ๖. สมุททชาดก ๗. กามวิลาปชาดก ๘. อุทุมพรชาดก ๙. โกมาริยปุตตชาดก๑๐. พกชาดก. _________________ รวมวรรคที่มีในติกนิบาตนี้ คือ ๑. สังกัปปวรรค ๒. ปทุมวรรค ๓. อุทปานทูสกวรรค ๔. อัพภันตรวรรค ๕. กุมภวรรค. จบ ติกนิบาตชาดก. _________________

กลับที่เดิม